ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Update 2010)
          
          การช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR : Cardiopulmonary Resuscitation) หรือ การกู้ชีวิต หรือ การกู้ชีพ หมายถึง  การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Lifesupport)ได้แก่ การผายปอด และ การนวดหัวใจภายนอก

                      ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival)
          
          ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นสาเหตุที่สำคัญที่นำมาสู่การเสียชีวิตซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เพื่อให้มีหลักการช่วยฟื้นคืนชีพแนวทางเดียวกันและเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติ ดังนั้นจึงได้มรการบัญญัติ "ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต" (Chain of Survival) ดังรูปด้านบนนี้ครับ ซึ่งประกอบด้วย
  1. การประเมินผู้ป่วย เรียกขอความช่วยเหลือหรือเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉินทันที 
  2. การกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที
  3. การทำการช็อคไฟฟ้าหัวใจเมื่อมีข้อบ่งชี้
  4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การดูแลภายหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ

จุดเน้นสำคัญของ Update CPR 2010
  • การตรวจพบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ประเมินจากการไม่ตอบสนองและการหายใจที่ผิดปกติของผู้ป่วย
  • ยกเลิกการประเมินการหายใจโดยใช้เทคนิค "ตาดู หูฟัง แก้มสัมผัส"
  • เน้นการกดหน้าอกอย่างถูกต้อง ทั้งอัตราเร็ว ความลึก การปล่อยให้หน้าอกกลับคืนจนสุด การขัดจังหวะการกดหน้าอกให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการช่วยหายใจที่มากเกินพอดี
  • มีการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน  >>>>>>> จาก A-B-C เป็น C-A-B
  • กดหน้าอกด้วยอัตราเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที
  • กดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร)

ขั้นตอนในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน

1.   การประเมินผู้ป่วย เรียกขอความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  ทำได้โดยการตบที่หัวไหล่ผู้ป่วยเบา ๆ และตะโกนเรียกเสียงดัง ๆ เพื่อประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยให้ระวังผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ หากไม่มีการตอบสนอง ให้ทำการเรียกขอความช่วยเหลือในทันที ซึ่งปัจจุบันสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ เบอร์โทร 1669 โดยขอผู้ช่วยและเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ แจ้งข้อมูลเบื้องตนที่สำคัญ เช่น สถานที่เกิดเหตุ สภาพเหตุการณ์ที่พบเห็น รวมถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ จำนวนผู้ป่วย การรักษาที่ให้ไป เบอร์โทรกลับที่ติดต่อได้ ฯลฯ
2.   การคลำชีพจร  สำหรับประชาชนทั่วไปไม่แนะนำให้ทำ แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ : ให้คลำชีพจร โดยใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที หากผู้ประเมินไม่มันใจว่าผู้ป่วยมีชีพจรอยู่หรือไม่ ให้ทำการกดหน้าอกในทันทีและทำการประเมินชีพจรซ้ำทุก ๆ 2 นาทีของการช่วยฟื้นคืนชีพ
3.   ทำการกดหน้าอก โดยการจัดท่าผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นผิวที่แข็ง ในสถานที่ปลอดภัย ผู้ช่วยเหลือคุกเข่าทางด้านข้างผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลควรระมัดระวังการหลุดเลื่อนของสายต่าง ๆ ที่ต่อเข้ากับผู้ป่วย เช่น สายน้ำเกลือ สายปัสสาวะ ฯลฯ หากผู้ป่วยนอนอยู่บนที่นอนลม ควรระบายลมออกก่อนที่จะเริ่มกดหน้าอก จากนั้นให้ผู้ช่วยเหลือใช้สันมือข้างหนึ่ง วางบริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก วางมืออีกข้างหนึ่งทาบหรือประสานลงไป จากนั้นทำการกดหน้าอก ซึ่งการกดหน้าอกนี้จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของความดันภายในช่องทรวงอกและเพิ่มแรงดันที่หัวใจโดยตรง ทำให้เกิดการไหลเวียนโลหิตและการขนส่งออกซิเจนไปยังบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและสมอง ในปัจจุบันมีการเน้นย้ำในเรื่องของการกดหน้าอกเป็นอย่างมากโดยเน้นในเรื่อง
          3.1   การกดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพ
          3.2   การกดหน้าอกที่แรงและเร็ว โดยกดหน้าอกลึดอย่างน้อย 2 นิ้ว ( 5 เซนติเมตร) ด้วยอัตราเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที และปล่อยให้มีการขยายของทรวงอกกลับคืนจนสุด เพื่อให้หัวใจรับเลือดสำหรับสูบฉีดครั้งต่อไป พบว่าหากการกดหน้าอกที่ไม่ปล่อยใหทรวงอกกลับคืนจนสุดจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงดันในทรวงอก ส่งผลให้ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ, สมองและหลอดเลือดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
          3.3   รบกวนการกดหน้าอกให้น้อยที่สุด โดยสามารถหยุดการกดหน้าอกได้ไม่เกิน 10 วินาที ในกรณี การคลำชีพจร , มีการช็อกไฟฟ้าหัวใจ , ต้องการหยุดเพื่อใส่อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจขั้นสูง (ในกรณีที่ใส่ในขณะกดหน้าอกไม่ได้)

สำหรับการกดหน้าอกแบ่งวิธีปฏิบัติเป็น 3 แบบ ตามประเภทของผู้ช่วยชีวิต ได้แก่

A.   บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยเข้ารับการอบรม
ควรทำการกดหน้าอกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องช่วยหายใจ เนื่องจากในช่วงแรกที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดยังเพียงพออยู่อีกระยะหนึ่ง และในขณะที่มีการกดหน้าอกนั้นการขยายของทรวงอกจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ โดยเน้นให้กดหน้าอกที่แรงและเร็ว ผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตควรจะทำการกดหน้าอกแต่เพียงอย่างเดียวต่อไปจนกระทั่งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจมาถึงและพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วย

B.   บุคคลทั่วไปที่เคยเข้ารับการอบรม
ควรกดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง (การจะทำการช่วยหายใจหรือไม่แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ทำ) และทำต่อเนื่องต่อไปจนกระทั่งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจมาถึงและพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วย

C.   บุคลากรทางการแพทย์
ให้ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สัลบกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง จนกว่าจะมีการใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจขั้นสูง เช่น ใส่ท่อหายใจ จากนั้นจึงเปลี่ยนการช่วยหายใจเป็น ช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก ๆ 6 - 8 วินาที ( 8 - 10 ครั้งต่อนาที)  เพิ่มความระมัดระวังการรบกวนการกดหน้าอกและหลีกเลี่ยงการช่วยหายใจที่มากจนเกินไป


          สำหรับการกดหน้าอกนั้นจะพบว่าผู้ปฏิบัติจะเริ่มเหนื่อยและประสิทธิภาพในการกดหน้าอกลดลงหลังจากทำไปประมาณ 1 นาที ดังนั้นในกรณีที่มีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้่เปลี่ยนบทบาทผู้ทำการกดหน้าอกทุก ๆ   2 นาที 1 หรือการกดหน้าอกสลับกับการช่วยหายใจครบ 5 รอบ (30:2)

4.   การเปิดทางเดินหายใจ ให้ใช้ วิธีการแหงนหน้าและเชยคาง (Head tilt - Chin lift) ในผู้ป่วยที่ไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีการบาดเจ็บของไขสันหลังให้ใช้วิธี Manual Spinal Motion Restriction โดยการวางมือสองข้างบริเวณด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของศีรษะ สำหรับการใส่อุปกรณ์ป้องกันแนะนำให้ใช้ในกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังบริเวณคอให้เปิดทางเดินหายใจด้วยวิธี ยกขากรรไกร (Jaw Thrust)

 
         (Head tilt - Chin lift)                         (Jaw Thrust)

5.   การช่วยหายใจ สำหรับแนวทางปฏิบัติปี 2010 นั้นได้ยกเลิกการประเมินการหายใจและช่วยหายใจในช่วงแรกออกไป แต่ให้ทำการกดหน้าอกไปก่อยการช่วยหายใจ การช่วยหายใจจะเริ่มทำทีหลังจากที่กดหน้าอกไปแล้ว 30 ครั้ง แล้วจึงเริ่มช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดย
          5.1 ช่วยหายใจมากกว่า 1 วินาทีในแต่ละครั้ง
          5.2 ให้ปริมาตรเพียงพอที่เห็นหน้าอกเคลื่อนไหว
          5.3 ใช้อัตราการกดหน้าอก 30 ครั้งต่อการช่วยหายใจ 2 ครั้ง ( 30:2 )
          5.4 เมื่อมีการใส่ท่อช่วยหายใจขั้นสูงแล้ว ให้ช่วยหายใจ 1 ครั้ง  ทุก 6 - 8 วินาที  ( 8 - 10 ครั้งต่อนาที) โดยที่ไม่ต้องหยุดขณะที่ทำการกดหน้าอก
           จุดประสงค์หลักในการช่วยหายใจคือ การรักษาระดับออซิเจนให้เพียงพอและขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเนื่องจากการขาดอากาศ เช่น จมน้ำ จึงต้องรีบกดหน้าอกและช่วยหายใจ  5  รอบ  หรือ 2  นาที ก่อนการร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ป่วยกำลังมีระดับออกซิเจนที่ตำกว่าปกติ



6.   การช็อกไฟฟ้าหัวใจโดยใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ (AED)
          6.1  เปิดเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ
          6.2  ทำตามคำสั่งของเครื่อง เช่น แปะแผ่น electrode ตามตำแหน่งที่กำหนด
          6.3  หากเครื่องแนะนำให้ช็อกไฟฟ้าหัวใจให้ถอยห่างจากผู้ป่วย กดปุ่มช็อกและกดหน้าอกต่อทันที ระวังไม่ให้หยุดกดหน้าอกนานเกิน 10 วินาที
          6.4  หากเครื่องไม่แนะนำให้ช็อกไฟฟ้าหัวใจให้ทำการกดหน้าอกต่อทันที

เรียบเรียงโดย The Nok : ThaiNurseClub พยาบาลไทย
ข้อมูลอ้างอิง
เอกสารประกอบงานอบรมวิชาการ Update in New CPR Guideline 2010 
3 ธันวาคม 2553
โดยคณะกรรมการช่วยฟื้นคืนชีพ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่