ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
Common Cold / Upper Respiratory Tract Infection

           ไข้หวัด หมายถึง การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจำแนกได้หลวม ๆ ตามบริเวณที่ได้รับผลจากไวรัส โดยโรคหวัดกระทบต่อจมูก คอหอย (คอหอยอักเสบ) และโพรงจมูก (โพรงจมูกอักเสบ) เป็นหลัก ส่วนใหญ่อาการเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากกว่าการทำลายเนื้อเยื่อจากไวรัสเอง โรคหวัดไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ แต่สามารถรักษาอาการได้ โรคหวัดเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่พบบ่อยที่สุดในมนุษย์ และอยู่คู่กับมนุษยชาติมาแต่โบราณ ผู้ใหญ่ติดโรคหวัดโดยเฉลี่ยสองถึงสามครั้งต่อปี ขณะที่เด็กโดยเฉลี่ยติดโรคหวัดระหว่างหกถึงสิบสองครั้งต่อปี การล้างมือเป็นวิธีการป้องกันหลัก และหลักฐานบางชิ้นสนับสนุนประสิทธิภาพของการสวมหน้ากากอนามัย
          
          พบได้บ่อยที่สุดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจจะเป็นปีละหลาย ๆ ครั้ง (โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนในปีแรก ๆ อาจเฉลี่ยเป็นประมาณเดือนละครั้ง) ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียน และสิ้นเปลืองค่ารักษาไปทีละมาก ๆ ได้
 ไข้หวัด

          เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมีอยู่มากมายเกือบ 200 ชนิด เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ โดยส่วนมากจะทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน (จมูกและคอ) ในบางตำราจึงเรียกว่า คอหอยส่วนจมูกอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (Acute nasopharyngitis) แต่เราเรียกโดยทั่วไปว่า โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนที่กระทบต่อจมูกเป็นหลัก อาการของโรคมีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ซึ่งมักหายไปเองในเจ็ดถึงสิบวัน แต่บางอาการอาจอยู่ได้นานถึงสามสัปดาห์ ไวรัสกว่า 200 ชนิดเป็นสาเหตุของโรคหวัด โดย ไรโนไวรัส เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด

          เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานตอเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน เราจึงมักป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลง ไข้หวัดสามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบว่าเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และที่ ๆ มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก ๆ 
          พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี  มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง พบได้น้อยในช่วงฤดูร้อน

สาเหตุของไข้หวัด

โรคหวัดเป็นการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน ไวรัสที่พบมากที่สุด คือ ไรโนไวรัส (30-80%) ซึ่งเป็นพิคอร์นาไวรัสที่มีเซโรไทป์รู้จักกัน 99 ชนิด ไวรัสชนิดอื่นมี โคโรนาไวรัส (10-15%) ฮิวแมนพาราอินฟลูเอ็นซาไวรัส ไวรัสเรสไพราทอรีซินไซเตียล อะดีโนไวรัส เอนเทอโรไวรัส และเมตะนิวโมไวรัส บ่อยครั้งที่ไวรัสมากกว่าหนึ่งชนิดก่อให้เกิดโรค รวมทั้งสิ้นแล้ว มีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับโรคหวัด

The common cold is a viral infection of the upper respiratory tract. The most commonly implicated virus is a rhinovirus (30–80%), a type of picornavirus with 99 known serotypes.[16][17] Others include: human coronavirus (~15%)  influenza viruses (10-15%), adenoviruses (5%), human parainfluenza viruseshuman respiratory syncytial virus, enterovirusesother than rhinoviruses, and metapneumovirus.Frequently more than one virus is present. In total over 200 different viral types are associated with colds.

เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน
นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อกันโดยการสัมผัสมือ คือ เชื้อหวัดอาจจะติดที่มือของผู้ป่วยซึ่งสัมผัสถูกมือของคนอื่นเชื้อหวัดก็จะติดมือของคนคนนั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูกเชื้อก็จะเข้าสู่ร่ายกายของคนๆ  นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้

ระยะฟักตัว
ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น 1 - 3 วัน

อาการ

          อาการทั่วไปของโรคหวัดมีทั้งไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก และเจ็บคอ บางครั้งอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ความล้า ปวดศีรษะและสูญเสียความอยากอาหาร ในผู้ป่วยโรคหวัด 40% พบอาการเจ็บคอ และ 50% พบอาการไอ ขณะที่อาการปวดกล้ามเนื้อพบในผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่ง ผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่มักไม่พบอาการไข้ แต่พบทั่วไปในทารกและเด็ก อาการไอมักไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ขณะที่อาการไอและไข้ในผู้ใหญ่มีแนวโน้มบ่งชี้ไข้หวัดใหญ่มากกว่า แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างโรคหวัดกับไข้หวัดใหญ่ ไวรัสหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดยังอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไร้อาการ สีของเสมหะอาจมีได้ตั้งแต่ไม่มีสีไปจนถึงเหลือง เขียว และไม่บ่งชี้ถึงประเภทของตัวที่กระทำให้เกิดการติดเชื้อ

อาจมีไข้ตัวร้อนเป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัดมมีน้ำมูก คัดจมูก จาม คอแห้ง เจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้ง ๆ หรือ ไอมีเสมหะเล็กน้อย สีขาว บางครั้งอาจเจ็บใต้ลิ้นปี่เวลาไอ
ในเดด็กเล็กมักจะพบว่าจับไข้สูงขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจไข้สูงและชักได้ อาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย

ถ้าเป็นอยู่นานเกิน 4 วัน อาจจะมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบของเชื้อแบคทีเรียและอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ

  • ไข้
  • น้ำมูก
  • เยื่อจมูกบวมและแดง
  • คอแดงเล็กน้อย
  • อาจพบต่อมทอนซิลบวมโต แต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง

การลุกลาม

ตามปกติโรคหวัดเริ่มต้นจากความล้า รู้สึกหนาวสะท้าน จามและปวดศีรษะ ตามด้วยอาการน้ำมูกไหลและไอหลายวัน  อาการอาจเริ่มขึ้นใน 16 ชั่วโมงนับแต่การสัมผัสและมักมีอาการรุนแรงที่สุด 2 - 4 วันหลังเริ่มมีอาการ  โดยปกติอาการจะหายไปเองใน  7 - 10 วัน แต่บางรายสามารถมีอาการได้นานถึง 3 สัปดาห์  40% ของผู้ป่วยเด็กมีอาการไอนานกว่า 10 วัน  และ 10% ของผู้ป่วยเด็กมีอาการไอนานกว่า 25 วัน

พยาธิสรีรวิทยา

          อาการของโรคหวัดเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันสนองต่อไวรัสเป็นหลัก  กลไกการตอบสนองของภูมิคุ้มกันนี้จำเพาะต่อไวรัส ตัวอย่างเช่น ไรโนไวรัสติดต่อผ่านการสัมผัส ตัวเชื้อจะจับกับ ICAM-1 รีเซพเตอร์ของผู้ป่วย (ผ่านกลไกที่ยังไม่ทราบแน่ชัด) แล้วกระตุ้นการปลดปล่อยสารตัวกลางการอักเสบ (inflammatory mediators) จากนั้น สารตัวกลางการอักเสบเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการ  โดยตัวไวรัสมิได้ก่อความเสียหายแก่เยื่อบุจมูกแต่อย่างใด ตรงข้ามกับไวรัสเรสไพราทอรีซินไซเตียล (RSV) ซึ่งติดต่อทั้งผ่านการสัมผัสโดยตรงและละอองจากอากาศ ไวรัสจะแบ่งตัวในจมูกและลำคอก่อนจะแพร่กระจายลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อเซลล์เยื่อบุ ไวรัสพาราอินฟลูเอนซาส่งผลให้เกิดการอักเสบในจมูก ลำคอและหลอดลม  หากเด็กเล็กติดเชื้อเกิดท่อลม (trachea) อักเสบอาจทำให้เกิดอาการของโรคกล่องเสียงอักเสบอุดกั้น (croup) ได้ เพราะทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก

อาการแทรกซ้อน

          อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหริอเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว  ถ้าลุกลามไปยังบรเวณใกล้เคียง อาจทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ บวมแดงเป็นหนองได้ ,ไซนัสอักเสบ,หูชั้นกลางอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ เป็นต้น
         ในเด็กเล็กอาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูงได้ ท้องเดิน บางคนอาจมีเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ เรียกว่า หวัดลงหู ซึ่งมักจะหายเองภายใน 3 - 5 วัน
           โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการพักผ่อน ตรากตรำทำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ ในเด็กทารก หรือ ผู้สูงอายุ

วิธีสังเกตดูอาการเพื่อแยกไข้หวัดออกจากโรคอื่นๆ

1) ถ้ามีไข้สูงเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีน้ำมูกไหล และจับไข้ตลอดทั้งคืน ทั้งวัน หน้าแด งตาแดง กินยาลดไข้ก็ไม่ได้ผล อาจเป็นไข้เลือดออก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในช่วงหน้าฝน) ควรดื่มน้ำให้มากๆ ทุกวัน นอนพักผ่อนให้เต็มที่ ห้ามกินยาลดไข้ ประเภทแอสไพริน (เช่น ยาแก้ไข้ชนิดซอง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ) เพราะถ้าเป็นไข้เลือดออกจริง อาจทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อลดไข้ ยาแก้ไข้ถ้าจำเป็นให้เลือกใช้พาราเซตามอล
ทางที่ดีควรปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน ภายใน 1-2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นอาการร้ายแรง

2) ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก ควรอ้าปากใช้ไฟฉายส่องดูคอ ถ้าพบว่าต่อมทอนซิลโตแดง หรือเป็นหนองแสดงว่าต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปหาหมอ หมอจะให้ยาลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี (ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 4 แสนยูนิต เด็กใช้ชนิด 2 แสนยูนิต) กินวันละ 4 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร สักครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน ถ้าแพ้ยานี้ หมอจะให้อีริโทรมัยซินแทน ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 แคปซูล เด็กครั้งละ 1 แคปซูลหรือ 1-2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้งเช่นเดียวกัน ควรกินยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติกหรือไตอับเสบ

3) ถ้ามีอาการหอบ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกมาก อาจเป็นปอดอักเสบ ควรไปหาหมอโดยเร็ว ถ้าเป็นมากอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หากชักช้าอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

4) ถ้ามีอาการปวดในหู หูอื้อ หรือหูน้ำหนวกไหล อาจเป็นหูอักเสบแทรกซ้อน ควรไปหาหมอ หมอจะให้ยาลดไข้ ยาปฏิชีวนะ (เพนวี หรือ อีริโทรมัยซิน) และยาแก้หวัด ควรกลับไปให้หมอตรวจซ้ำให้แน่ใจว่าไม่ได้กลายเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังต่อไป

5) ถ้ามีผื่นขึ้นตามตัว หลังมีอาการคล้ายไข้หวัด 3-4 วัน แต่ไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่ได้ผล หน้าแดง ตาแดง อาจเป็นหัด ควรให้ยารักษาแบบไข้หวัด เพราะเป็นโรคในกลุ่มไวรัสเช่นเดียวกัน

6) ถ้ามีอาการแบบไข้หวัด แต่มีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการมักจะรุนแรงจนต้องนอนซมเป็นพักๆ โรคนี้เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัส การรักษาก็ให้การดูแลรักษาไปตามอาการแบบเดียวกับไข้หวัดธรรมดา เมื่อได้พักผ่อนและกินยาลดไข้ อาการควรจะดีขึ้นภายใน 3-4 วัน ถ้ายังมีไข้สูงติดต่อกันมากกว่า 7 วัน หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ซีด เหลือง หอบ ชัก มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ปวดศีรษะรุนแรง ควรไปหาหมอโดยเร็ว

วิธีการรักษา

ถ้าแน่ใจว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เราอาจใช้การรักษาตัวเอง ดังนี้
  • พักผ่อนให้มากขึ้น อย่าอาบน้ำเย็น ควรดื่มน้ำมากๆ (อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้ ก็ได้)
  • ถ้าเบื่ออาหารให้กินน้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำข้าวต้ม ทีละน้อย แต่บ่อยๆ
  • กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด (เด็กใช้พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ ครึ่ง-2 ช้อนชาตามอายุ) ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการชวนสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก อย่ากินยาแอสไพริน ควรใช้ยาพาราเซตามอล แทน
การรักษาเพียง 3 ข้อนี้ ก็เพียงพอสำหรับไข้หวัดและโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ และอาการไข้ควรจะลดลงภายใน 3-4 วัน ส่วนยาอื่นๆ ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัด ยาอื่นๆ ได้แก่
  • ยาแก้หวัดแก้ไอ ถ้าเป็นไม่มาก ไม่ต้องกินก็ได้ ถ้าจะใช้ให้เลือกใช้ ดังนี้
  • ในเด็กเล็ก: ให้ยาแก้ไข้แก้หวัด ชนิดน้ำเชื่อม ในขวดเดียวมีตัวยาผสมกันทั้ง 2 อย่าง เช่น ยาแก้หวัดแก้ไอคลอริเอต ยาแก้หวัดแก้ไอไพร์ตอน เป็นต้น ให้กินครั้งละ ครึ่ง-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดได้ หรือถ้ากินแล้วกลับมีอาการไอมากขึ้นก็ควรงดเสีย เพราะยานี้อาจทำให้เสลดในคอเหนียว ขับออกยาก ทำให้ไอมากขึ้นได้ 
  • สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่: ให้กินยาแก้แพ้ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน ครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง และยาแก้ไอน้ำดำ จิบครั้งละ ครึ่ง-1 ช้อนชาเวลาไอ ถ้ากินแล้วกลับไอมากขึ้นควรงดเช่นเดียวกัน

  •  ยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัดแต่อย่างไร เพราะไม่ได้กำจัดเชื้อหวัด (และไวรัสทุกชนิด) แต่อย่างไรก็ตาม ยานี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปแทรกซ้อนภายหลัง ซึ่งจะสังเกตได้จากน้ำมูกหรือเสมหะที่เคยใสจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ดังนั้นถ้าพบว่าเป็นหวัด น้ำมูกใส เสมหะขาวไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียวจึงค่อยให้ยาปฏิชีวนะ 

          เมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ อาการตัวร้อนควรจะหายเป็นปกติ ภายใน 3-4 วัน (อย่างมากไม่เกิน 7 วัน) แต่อาจมีน้ำมูกหรือไอต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ (บางคนอาจไอโครกเป็นเดือน) ถ้าอาการทั่วๆ ไปเป็นปกติดี กินได้น้ำหนักไม่ลด ก็ไม่ต้องตกใจ จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง

อย่าลืมว่ายาแก้หวัดแก้ไอ อาจทำให้อาการไอเป็นมากขึ้น เพราะทำให้เสลดเหนียวขับออกยาก ดังนั้นถ้ายังไอมากควรงดยาเหล่านี้ แล้วหันไปดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจช่วยให้เสลดออกง่ายขึ้น และอาการไอจะค่อยหายไปได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา


การป้องกัน

  • ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่านอนปะปนกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก ไม่หายใจรดผู้อื่น 
  • อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย
  • ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
  • อย่างตรากตรำทำงานหนักเกินไป แต่ควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรกอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่มีคนแออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
  • ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำเย็นเกินไปโดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีอากาศเย็น
  • หมัั่นล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ อย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก
อ้างอิงข้อมูลจาก
  • http://th.wikipedia.org/wiki/โรคหวัด
  • http://www.doctor.or.th/article/detail/5925
  • ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป หลักการวินิจฉัยและรักษาโรค / 250 โรคและการดูแลรักษา : นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ; ไข้หวัด