ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
Hypertension
          โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะทางการแพทย์อย่างหนึ่ง โดยจะตรวจพบความดันโลหิต อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติเรื้อรังอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ในปี 1999 ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140 /90 มม.ปรอทถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และ การที่ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต ฯลฯ

          โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

 ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต

ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

  • อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะอายุ 18 ปี ความดันโลหิต เท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิต อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90 แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้
  • เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน ตัวอย่างเช่น ในตอนเช้าความดันซิสโตลิกอาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น
  • จิตใจและอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน
  • เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง
  • พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อม ที่เคร่งเครียด ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท
  • เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาวปริมาณเกลือที่รับประทาน ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อย ตัวอย่างเช่น ชาวญี่ปุ่นตอนเหนือรับประทานเกลือมากกว่า 27 กรัม/วัน มีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงถึง 39% ส่วนชาวญี่ปุ่นตอนใต้รับประทานเกลือวันละ 17 กรัม/วัน เป็นมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพียง 21%

เกณฑ์ 6 ประการ

ที่ใช้ประเมินค่าความแม่นตรงของความดันโลหิต (Beare and Mayers1994 : 734)

1. ผู้ป่วยต้องอยู่ในท่านั่งที่สบาย แขนวางในระดับหัวใจ ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟมาก่อน วัด 30 นาที
2. วัดหลังจากนั่งพัก 5 นาที
3. ขนาดของยังพันรอบแขนควรมีขนาดพอเหมาะ = ควรพันประมาณ 1/3 ของแขน
4. วัดด้วยเครื่องที่เป็นมิลลิเมตรปรอท (A mercury sphygmomanometer) และเครื่องได้รับการตรวจสอบแล้วว่าปรับถูกต้อง
5. ค่าความดันควรบันทึกทั้งซิสโตลิก และไดแอสโตลิก ค่าไดแอสโตลิก บันทึกเมื่อเสียงเริ่มหายไป
6. วัดประมาณ 2 ครั้ง หรือมากกว่าแล้วนำมาเฉลี่ย ค่าวัดครั้งที่ 1 และ 2 ต่างกัน5 มิลลิเมตรปรอท ให้วัดซ้ำดูอีกครั้ง



ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันในหลอดเลือดและเมื่อมีการบีบและคลายตัวของหัวใจ ความดันโลหิตมี 2 ค่า คือค่าความดันโลหิตตัวบนและค่าความดันโลหิตตัวล่าง โดยมีหน่วยวัดเป็น มิลลิเมตรปรอท ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขน
  1. ค่าความดันโลหิตตัวบน หรือ ความดันซิสโตลิก (Systolic blood pressure) : SBP  คือค่าของแรงดันเลือดขณะที่หัวใจมีการบีบตัว เมื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จะมีค่าสูง ซึ่งอาจจะสูงขึ้นตามอายุ ความดันช่วงบนในคน ๆ เดียวกัน อาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และปริมาณของการออกกำลัง
  2. ค่าความดันโลหิตตัวล่าง หรือ ความดันไดแอสโตลิก (Diastalic blood pressure) : DBP คือค่าของแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจมีการคลายตัว เพื่อรับเลือดที่กลับจากไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมาแล้วจะมีค่าต่ำ 

คำนิยาม

โรคความดันโลหิตสูง (HT)
 หมายถึง การมีค่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) เท่ากับ หรือ มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg) และ/หรือ ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DBP)  เท่ากับ หรือ มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg)

Isolate Systemic Hypertension (ISH)  หมายถึง การมีค่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) เท่ากับ หรือ มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg) แต่ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DBP)  น้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg)

Isolate office Hypertension หรือ White Coat Hypertension (WCH)  หมายถึง ภาวะที่วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ แล้วพบว่ามีค่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) เท่ากับ หรือ มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg) และ/หรือ ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (DBP)  เท่ากับ หรือ มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (mm.Hg) แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านแล้วพบว่าไม่สูง ( SBP น้อยกว่า 135 mm.Hg และ DBP น้อยกว่า 85 mm.Hg)

Masked  Hypertension หมายถึง ภาวะที่วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ แล้วพบว่ามีค่าความดันโลหิตปกติ (SBP น้อยกว่า 140 mm.Hg และ/หรือ DBP น้อยกว่า 90 mm.Hg แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านแล้วพบว่าค่าความดันโลหิตสูง ( SBP มากกว่า 135 mm.Hg และ DBP มากกว่า 85 mm.Hg)

 ระดับความรุนแรง


  • ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180/110 มม.ปรอท

การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนอนพัก ควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริงๆ

โรคความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ
(Essential hypertension หรือ primary hypertension) พบได้ร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดได้แก่
  • กรรมพันธุ์ บุตรหลาน ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตร้อยละ 30 – 60 
  • ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 ขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิต เนื่องจากไขมันในร่างกาย
  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ มีผลต่อผนังหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้
  • การรับประทานเกลือโซเดียมมาก โซเดียมทำให้มีการคั่งของน้ำทำให้เพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเลือด ปริมาณเลือดจากหัวใจใน 1 นาที มีผลต่อความตึงตัวของหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์เกิน 30 – 60 มิลลิเมตรต่อวันทำให้หลอดเลือดหดตัวส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และยังส่งผลให้ลดประสิทธิภาพของยารักษาโรค ความดันโลหิตสูงอีกด้วย
  • อายุ อายุของวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย ตั้งแต่อายุ 45 ปี ขึ้นไป มีผลต่อการเพิ่มของความดันโลหิต เนื่องจากความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง
  • ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดบ่อย ๆ มีผลทำให้ระบบประสาทที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มของความดันโลหิตได้
2. ความดันโลหิตชนิดทราบสาเหตุ 
(Secondary hypertension) จะพบได้น้อย ร้อยละ 10 อาจเกิดจากการที่มีพยาธิสภาพของไต ต่อมหมวกไต ความผิดปกติของระบบประสาท และความผิดปกติของฮอร์โมนโรค ของต่อมไร้ท่อ ครรภ์เป็นพิษ การบาดเจ็บศีรษะเป็นต้น
  • ได้รับยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด , ยาสเตอรอยด์ , แอดรีนาลีนเป็นต้น
  • ความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์

 อาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลย หรืออาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอกหรือนอนไม่หลับ
ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกันคือ


  • กรณีที่ 1 ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก
  • กรณีที่ 2 ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้

จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60-75 % , เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัดหรือแตก 20-30 % และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10 %

 ภาวะแทรกซ้อน

  1. ภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตจนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งจะมีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดผิดปกติ เกิดอาการตีบตันแข็งตัวและเปราะง่าย ทำให้หัวใจขาดเลือด ถ้ารุนแรงถึงกับเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  2. ภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนตาย อาจเกิดเป็นอัมพาตได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ถ้าเป็นเรื้อรัง บางคนกลายเป็นโรคความจำเสื่อม สมาธิลดลง ในรายที่มีความรุนแรง เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการชัก หรือหมดสติได้
  3. ภาวะแทรกซ้อนต่อไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหลอดเลือดแดง เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ และไม่สามารถขับปัสสาวะได้ทำให้ไตวายได้ การตรวจปัสสาวะจะพบไข่ขาวตั้งแต่ 2+ ขึ้นไป การเจาะเลือดตรวจดูการทำงานของไต โดยดูการคั่งของเสีย เช่น BUN , Creatinine จะช่วยวินิจฉัยภาวะไตวายได้
  4. ภาวะแทรกซ้อนต่อตา จะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆในระยะแรกหลอดเลือดจะตีบตันต่อมาอาจแตกมีเลือดออกที่ขอบตา (เรตินา) ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อย ๆ จนตาบอดได้ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะเกิดขึ้นรุนแรงหรือรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะของโรค ถ้าความดันมีขนาดสูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้รวดเร็ว และมีผู้ป่วยอาจตายได้ภายในเวลาไม่กี่ปี ส่วนในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย อาจกินเวลา 10 – 20 ปี กว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน

           สรุปภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง คือ หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัวและถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด อาจเกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำใหเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นโรคความจำเสื่อม สมาธิลดลง เลือดอาจไปเลี้ยงไตไม่พอ เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อม ทำให้ไตวายเรื้อรังและภาวะไตวายจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีก หลอดเลือดแดงในตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ อาจมีเลือดที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนตาบอดได้

 ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีความดันโลหิตสูง

เป้าหมายของการรักษาความดันโลหิตสูง คือการลดความดันโลหิตให้ลงมาสู่ปกติและลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ การรักษาความดันโลหิตจึงมีทั้งการรักษาด้านยาและการรักษาที่ไม่ใช้ยา ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต
  • การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ใช้ยา (Non pharmacologic treatment) โดยใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับน้อย และใช้วิธีนี้ในการรักษาผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในระดับปานกลาง และความรุนแรงควบคู่ไปกับการใช้ยา การรักษาโดยไม่ใช้ยาเป็นการปฏิบัติตนนอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตสูง แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการปฏิบัติตนประกอบด้วย
1. การลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักในคนอ้วนที่น้ำหนักตัวเกินร้อยละ 10 – 20 ของน้ำหนักมาตรฐานในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับน้อยลดน้ำหนักได้ > 4.5 กิโลกรัม ทำให้ความดันโลหิตลดลงมาอยู่ในระดับปกติติดได้ การลดน้ำหนักต้องปรับเปลี่ยนแบบแผน นิสัยการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยจึงควรได้รับการแนะนำเรื่องอาหาร การเลือกแคลอรี่ของอาหาร และแคลอรี่ที่ตนเองต้องการ การเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ

2. การลดอาหารเค็ม การลดอาหารเค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานมีผลดีต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ การจำกัดอาหารเค็มจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ปริมาณโซเดียมที่รับประทานในวันหนึ่ง ๆ ให้ประมาณ 2,000 มิลลิกรัมหรือต่ำกว่าโดยผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้ ตระหนักและคำนึงถึงการเลือกรับประทานอาหารและควรพบนักโภชนาการ เพื่อปรึกษาอาหาร

3. การลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากการที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูงส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องเรียนรู้เรื่องอาหารจากนักโภชนาการเพื่อลดระดับโคเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/ดล.ลด Low density lipoprotein น้อยกว่า 140 มิลลิกรัม / ดล.และเพื่อ high density lipoprotein มากกว่า 40 มิลลิกรัม / ดล.

4. ลดการดื่มแอลกอฮอล์ คนที่ดื่มสุรามากจะทำให้ความดันโลหิตทั้งซีสโตลิกและไดแอสโตลิกสูงขึ้นและถ้าดื่มเป็นประจำจะทำให้ยาลดความดันโลหิตไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้ไม่เกิน 1 ออนซ์/วัน ของเอทานอลในผู้ป่วยชายและไม่เกินครึ่งออนซ์/วัน ในผู้หญิง

5. การเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัวทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง รวมทั้งผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ใช้ยากั้นเบต้า และสูบบุหรี่จะทำให้ลดประสิทธิภาพของยาลง

6. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิค มีผลทำให้ลดความดันโลหิตสูงซึ่งพบว่าการออกกำลังกายทำให้ระดับ Catecholamine ลดลง จึดลดการกระตุ้นระบบประสาทซึมพาเทติก การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน จึงช่วยเสริมการลดน้ำหนักในคนความดันโลหิตสูงที่มีรูปร่างอ้วนด้วย

7. การจัดการกับความเครียด เนื่องจากความเครียดทำให้เพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ การเรียนรู้ทักษะ ในการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง

  • การรักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยา (Pharmacologic treatment) ยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง 8 กลุ่ม ดังนี้
1. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น Thaizide , Furosemide , moduretic
2. ยากั้นเบต้า (Beta blocker) เช่น propanolol , atenolol ออกฤทธิ์โดยการลด Cardiac output
3. ยาต้านแคลเซียม (Calcium antagonist) เช่น Verapramil , nefidipine
4. ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) เช่น hydralazine , mioxidil
5. ยาต้านระบบเรนิน (Renin angiotensin inhibitors) เช่น Captopil , Enalapril
6. ยากั้นแอลฟา (Alpha blocker) เช่น Prazosin
7. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Centrally acting adrenergic inhibiting compound) เช่น methydopa
8. ยาปิดกั้นตัวรับแองจิโอเทนซินทู ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลง ยากลุ่มนี้ได้แก่ losartan 

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ ยา ที่ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ในบทความถัดไป More >>>

แหล่งอ้างอิงข้อมูล
  • สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย http://www.thaihypertension.org/
  • แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2555