ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
บ้านต๊ำม่อน หมู่ 12
ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา


ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน 

คำว่า “ต๊ำ” หมายถึง ลำน้ำแม่ต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ส่วนคำว่า “ม่อน” (ถิ่น - พายัพ) หมายถึง เนินเขา,ยอดเขา “ต๊ำม่อน” จึงหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขาตลอดสองฝั่งลำน้ำแม่ต๊ำ 

บ้านต๊ำม่อน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของ 2 ฝั่งของลำน้ำแม่ต๊ำ มีการสร้างบ้าน ที่พักอาศัยเรียงตามลำน้ำแม่ต๊ำ โดยประชากรพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำในการประกอบอาชีพ สภาพชุมชนยังไม่หนาแน่นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากทำให้มีปัญหาในการติดต่อคมนาคมระหว่างสองฝั่งหนึ่ง จึงได้สร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำขึ้นมาแต่ก็ไม่ถาวรเพราะสะพานดังกล่าวทำจากไม้ไผ่ หากมีกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านทำให้เกิดความเสียหายต่อสะพานถาวร ได้นำซุงมาทำเป็นเสาและใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นพื้นสะพาน ทำให้มีสะพานที่สามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทนต่อกระแสน้ำเชี่ยวต้องซ่อมอยู่เป็นประจำ ต่อมาจึงได้มีการย้ายสะพานมาสร้างบริเวณคอนกรีตในปัจจุบัน โดยใช้ไม้ซุงอย่างดีในการทำสะพานและสะพานได้ผุพังไปตามกาลเวลา 

ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 26 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา
  • พ.ศ.2264 พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายถึงล้านนา ได้มี เจ้าแม่แก้ว วันนา เป็นบุตรของเจ้าน้อยมหาพรหมและเป็นพี่ของเจ้าหลวงมหาจัยหรือพระเจ้าประเทศอุดรทิศ (เจ้าเมืองพะเยา ต้นตระกูลศรีติสาร) เห็นว่าพื้นที่ในสถานที่ตั้งของวัดต๊ำม่อนเดิมเหมาะสมเป็นที่ตั้งสถานประกอบพิธีทางศาสนาลัทธิมหายาน เจ้าแม่แก้ว วันนา จึงได้พระพุทธรูปพระประธานถวายเป็นทาน โดยจ้างปู่สล่าส่างคำตั๋น เป็นช่างปั้นนับจนปัจจุบัน พ.ศ.2562 รวม 298 ปี การสร้างพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับด้วยแก้วศรีต่างๆ ชาวบ้านเรียก “พระเจ้าเงี้ยว” พระประธานองค์นี้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมๆกับอารามเล็กๆ อยู่กลางป่ามีต้นโพธิ์ (ต้นศรี) ขึ้นมารอบอาราม ต่อมาขาดคนดูแลรักษากลายเป็นวัดร้างหลายปี พวกชาวเงี้ยว ชาวขมุและลั๊วะ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งย้ายที่ทำกินไปเรื่อยๆ และสมัยนั้นอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีการรบราฆ่าฟันกันจึงต้องถิ้งถิ่นฐานไป ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอีก รวมทั้งชาวลำปางได้อพยพมาอาศัยอยู่เพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน นับว่าชาวบ้านต๊ำม่อนปัจจุบันมีเชื้อสายมาจากลำปางและได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดต๊ำม่อนขึ้นมาใหม่มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ วัดต๊ำม่อนดอนชัยบ้าง วัดต๊ำม่อนศรีล้อมบุญโยงบ้าง ตามแต่จะเรียกกัน เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะวัดนี้ล้อมรอบไปด้วยต้นศรีหรือต้นโพธิ์และวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ (ที่เนินสูงๆ ต่ำๆ ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อน”) ดังนั้นบางกลุ่มจึงเรียกกันว่า “วัดต๊ำม่อนศรีล้อมดอนชัย” บางกลุ่มก็พากันเรียก “วัดต๊ำม่อนศรีบุญโยง” เนื่องจากเป็นวัดที่มีชาวบ้านทั่วสารทิศมาทำบุญกันมาก ทั้งชาวพื้นเมือง เงี้ยว ขมุและลั๊วะเพราะพื้นที่แห่งนี้มีวัดต๊ำม่อนเป็นวัดแห่งแรกเหมือนกับเนื้อนาบุญที่โยงใยทั่วถึงกันต่อมานิยมเรียกกันสั้นๆว่า “ต๊ำม่อน” วัดต๊ำม่อนหลังจากถูกปล่อยให้รกร้างมานานก็ได้มี ท่านพระครูบาคัณธะวัง พระครูบาปัญญาและพระครูบาแว ร่วมกับชาวบ้าน ได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์เป็นถาวรสถานและมีถาวรวัตถุสืบทอดศาสนาต่อๆ กันมา โดยมีพ่อหราน มะโนเป็นมัคคทายกหรืออาจารย์วัดเป็นคนแรกและมี พ่อหน้อยศรีใจ นามบาน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านต๊ำม่อน วัดต๊ำม่อน ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 6 บ้านต๊ำม่อน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 81 ตารางวาโฉนดที่ดินเลขที่ 62133/62134 
  • พ.ศ.2516 ได้มีการก่อตั้งสถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำขึ้น เพื่อดูแลปัญหาความเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้าน 
  • พ.ศ.2518 – พ.ศ.2524 ปกครองโดย พ่อหลวงกองคำ ปันคำ (ผู้ใหญ่บ้าน) ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จึงได้มีการขยายถนนให้กว้าง 3 เมตร ขยายเป็น 8 เมตร และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม่เดิม และวางแผนขอไฟฟ้าและถนนคอนกรีตเข้าสู่หมู่บ้านสำเร็จในปี พ.ศ.2520 ทำให้การคมนาคม การเดินทางไปรักษาเมื่อเจ็บป่วยสะดวกมากขึ้น เช่น เดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลพะเยาหรือเดินทางไปรักษาด้วยการเป่า หมอชาวบ้าน ในอีกหมู่บ้าน ถือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ และในปีดังกล่าวได้มีการย้าย คริสจักรมาจากบ้านต๊ำพระแลมาก่อตั้งที่บ้านต๊ำม่อนถือเป็นศูนย์รวมของพี่น้องศาสนาคริสต์และมีพิธีนมัสการพระเจ้าในทุกวันอาทิตย์ ปัจจุบันอยู่ในเขต บ้านต๊ำม่อน หมู่ 6 
  • พ.ศ.2524 ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนโยบายกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน มีการรับสมัคร อสม.ทุกหมู่บ้าน มีการอบรม อสม.ให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มประชากรหน่วยงานรัฐกระทรวงสาธารณสุขอบรม อสม.เกิดกลุ่ม อสม.ในหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และเริ่มสร้างฝายทดแทนน้ำแม่ต๊ำเนื่องจากหมู่บ้านมีสภาพแห้งแล้ง เริ่มโดย นายก๋องคำ ปันคำ 
  • พ.ศ.2532 ได้มีการก่อตั้งเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 
  • พ.ศ.2536 มีการกระจายอำนาจการปกครองเกิดการพัฒนาด้วยแนวคิดผู้นำในหมู่บ้านขึ้น พ่อหลวง ก๋องคำ ปันคำ จึงจัดการจัดประชาคมหมู่บ้านและดำเนินเรื่องเพื่อแยกบ้านต๊ำม่อนเป็น 2 หมู่บ้าน คือ ม.6 และ ม.12 เพื่อให้ได้รับงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้านและการกระจายอำนาจการปกครองโดยใช้ลำน้ำแม่ต๊ำเป็นแนวกั้นทุกกลุ่มประชากรเกิดหมู่บ้านขึ้นใหม่ 1 หมู่บ้าน
  • พ.ศ.2540 มีการการแยกบ้านต๊ำม่อนเป็น 2 หมู่บ้านอย่างเป็นทางการ
  • พ.ศ.2544 ปกครองด้วยพ่อหลวงเซ็น มูลเข้า ได้จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาดุกและกลุ่มเลี้ยงวัวเพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน มีการตั้งกองทุนหมู่บ้านโดยบริหารจัดการกองทุนในรูปแบบของสมาชิกกลุ่ม ปล่อยกู้ให้สมาชิกรายละ 30,000 บาท/คน ให้สมาชิกออมทุกเดือนๆ ละ 50 บาท รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณ มีสมาชิกกองทุน จำนวน 120 คน เกิดกลุ่มกองทุนและมีผู้รับผิดชอบในรูปแบบของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพหลักๆคือ การทำการเกษตรที่อยู่กับไร่สวน มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จากการประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำการเกษตรที่มีต้นทุนจากการผลิตสูง เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดกลุ่มต่างๆขึ้นในชุมชน และส่งผลให้กลุ่มนั้นเข้มแข็งช่วยเหลือตนเองได้และช่วยเหลือชุมชน ได้แก่ 1.กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน 2. กลุ่ม อสม. 
  • พ.ศ.2545 มีการก่อตั้งกลุ่มจักรสารเพื่อส่งเสริมรายได้ในช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และทำไร่สวน 
  • พ.ศ.2547 มีการยุบกลุ่มจักรสารลงเนื่องจากไม่มีผู้มารับซื้อผลิตภัณฑ์จักรสารของชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันยังมีไม่กี่ครัวเรือนที่ยังทำเพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือนของตนเอง 
  • พ.ศ.2552 มีการจัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตรเพื่อลดต้นทุนในการผลิตและลดการใช้สารเคมีที่อาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
  • พ.ศ.2552 – 2555 ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนาปรับปรุงบริการด้านสาธารณสุข จึงได้รับการยกระดับจากสถานีอนามัย เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 รวมถึงในปีเดียวกันพ่อหลวงศรีทอง สมวัน มีการจัดตั้งกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ชาวนานำเมล็ดข้าวไปปลูกก่อนเมื่อได้รายได้จากการขายข้าวแล้วจึงนำเงินมาจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับกลุ่ม
  • พ.ศ.2558 มีการก่อตั้งกลุ่มโคมไฟ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้ ปัจจุบันกลุ่มตั้งอยู่ที่หน้าวัดบ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 6 แต่สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มเป็นผู้สูงอายุที่มาจากหลายหมู่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุบ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 12 
  • พ.ศ.2560 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในหมู่บ้าน เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินครัวเรือน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาในส่วนนี้แต่ได้รับการช่วยเหลือจากเทศบาลบ้านต๊ำ คือ ถุงยังชีพและคนในชุมชนจึงร่วมมือกันในการจัดทำฝายกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 
  • ปัจจุบันบ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 12 มีจำนวนครัวเรือน 165 หลังคาเรือน จำนวนประชากรตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 486 คน เป็นชาย 246 คน หญิง 240 คน มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 180 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1070 ไร่ พื้นที่ทำนา 800 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 3 แห่ง ผู้ใหญ่บ้านคือ พ่อหลวงศรีทอง สมวัน 

สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้าน

หมู่บ้านต๊ำม่อน หมู่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,565 ไร่ แบ่งเป็น
  • พื้นที่อยู่อาศัย 180 ไร่
  • พื้นที่ทำนา 1,304 ไร่ 
  • พื้นที่ทำไร่ 70 ไร่ 
  • พื้นที่ทำสวนผลไม้ 10 ไร่ 
  • พื้นที่สาธารณะ/นันทนาการ 1 ไร่

ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 26 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา

อาณาเขตติดต่อ
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าจำปี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านต๊ำม่อนหมู่ 6 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต๊ำพระแล หมู่ที่ 7 - 11 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต๊ำเหล่า ตำบลท่าจำปี

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ ลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก สำหรับใช้ทำการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา บางส่วนใช้ทำสวน ทำไร่ มีอุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีน้ำตกจำปาทองและน้ำตกขุนต๊ำ เป็นต้นกำเนิดลำน้ำไหลผ่านสายหลัก ได้แก่ ลำน้ำแม่ต๊ำ จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำอิงทางทิศตะวันออกบริเวณบ้านต๊ำดอนมูล หมู่ที่ 2 และไหลลงสู่กว๊านพะเยาทางทิศเหนือของกว๊าน ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้ในการอุปโภคและการเกษตร

ลักษณะภูมิอากาศ
  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม อากาศร้อนที่สุดเดือนเมษายน
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน – ตุลาคม อากาศร้อนที่สุดเดือนสิงหาคม – กันยายน 
  • ฤดูหนาว ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ อากาศร้อนที่สุดเดือนธันวาคม – มกราคม
สภาพภายในหมู่บ้าน

บ้านต๊ำม่อน หมู่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีครัวเรือนทั้งหมด 165 หลังคาเรือน และมีที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้าน จำนวน 117 หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็น พื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้น เป็นบ้านไม้ชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน

การคมนาคมภายในและภายนอกหมู่บ้าน

บ้านต๊ำม่อน หมู่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพถนนถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง สามารถสัญจรไปมาได้โดยสะดวก ไฟข้างทางมีตามจุดทางแยกและทางโค้ง ในหมู่บ้านเส้นทางที่ไปทำนา ทำสวนเป็นถนนคอนกรีต ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง
ถนนในหมู่บ้านจำนวน 10 สาย แยกได้ดังนี้
  • ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 สาย รวม 830 เมตร
  • ถนนลาดยาง จำนวน 2 สาย รวม 2500 เมตร
  • ถนนลูกรัง จำนวน 2 สาย รวม 3000 เมตร
  • ถนนดิน จำนวน 1 สาย รวม 1500 เมตร
   

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บ้านต๊ำม่อน หมู่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีแหล่งน้ำสาธารณะ 3 แห่ง ประชากรในหมู่บ้านใช้น้ำอุปโภคจากบ่อน้ำตื้น น้ำบริโภคโภคเป็นน้ำดื่มบรรจุสำเร็จรูป ส่วนน้ำที่ใช้ในทางการเกษตรมาจากสระน้ำที่ขุดเองและลำน้ำแม่ต๊ำ

   

โครงสร้างองค์กรชุมชน
บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  ประกอบด้วยหลายกลุ่ม คือ กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มหัวหน้าคุ้ม กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มฌาปณกิจสงเคราะห์ กลุ่มกองทุนเงินล้านและกลุ่มที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น กลุ่มเลี้ยงวัว กลุ่มเลี้ยงปลาดุก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเมล็ดพันธ์ข้าว กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมี นายสีทอง สมวัน เป็นผู้ใหญ่บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 12 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในหมู่บ้าน ซึ่งคนในชุมชนให้การยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

การประกอบอาชีพในชุมชน 

 มีพื้นที่ทำนา ประมาณ 7,304 ไร่ พื้นที่ทำสวนผลไม้ 10 ไร่ รายได้ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงมาจากการเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประชาชนในหมู่บ้าน การประกอบอาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริม ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 100,001 – 300,000 ปี
  • อาชีพหลัก ของประชาชนบ้านต๊ำม่อน หมู่ 12 คือ เกษตร-ทำนา, เกษตร-ทำสวน,พนักงาน-รับราชการ, 
  • อาชีพรอง คือ รับจ้างทั่วไป , ค้าขาย 
  • อาชีพเสริม คือ เลี้ยงวัว เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่พื้นเมือง จักรสาน ไม้กวาดดอกหญ้า กรีดยาง
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 26 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา


กิจกรรมด้านเศรษฐกิจบ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา พบว่าส่วนใหญ่กิจกรรมในหมู่บ้านจะเป็นเกี่ยวกับทางการเกษตร คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคมเก็บผลผลิต เดือนสิงหาคมเก็บผลผลิตลำไย เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนปลูกและเก็บผลผลิตกระเทียม เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปลูกและเก็บผลผลิตผักสวนครัว เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคมเลี้ยงปลาและขายปลา และช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคมจะมีกรีดยางพารา,จักรสานและทำไม้กวาดดอกหญ้าตลอดทั้งปี

ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 26 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา

ศาสนา

               ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เปรียบเสมือนศูนย์กลาง ของชุมชน วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับวัดแทบทั้งสิ้น โดยกลุ่มวัยที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดโดยตรงคือ ผู้สูงอายุซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในหมู่บ้านต๊ำม่อน มีกิจกรรมทางศาสนาตลอดทั้งปี วัดสามารถเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่มีบทบาทในการปรับเปลี่ยนค่านิยมที่เป็นผลเสียต่อคนในชุมชน เช่น การร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบายงดเหล้าในงานศพ งานบุญในพื้นที่ นอกจากนี้พระสงฆ์ในพื้นที่ยังมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

               นอกจากนี้ในหมู่บ้านต๊ำม่อน มีประชาชนส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์คริสจักรจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ในบ้านต๊ำม่อน หมู่ 6 ซึ่งประชาชนในหมู่ 12 ไปเข้าร่วมกิจกกรมทางศาสนาด้วยกัน โดยเฉพาะกิจกรรมประจำทุกวันอาทิตย์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอีกหนึ่งช่องทาง


Check in Tummon12 Bantum Phayao Thailand

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ
จากคณะนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 26 
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา