ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
บ้านต๊ำกลาง หมู่ 8
ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา




ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน (Time line)
               คำว่า “ต๊ำ” มีความเป็นมาอยู่ 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่หนึ่งเป็นแนวคิดเชิงธรรมชาติมีน้ำขุนต๊ำไหลผ่านจึงได้นามตามขุนน้ำว่าบ้านต๊ำ แนวคิดที่สองเป็นแนวคิดเชิงนิทานพื้นบ้าน คือ มาจากคำว่าขะตั๊ม (ภาษาท้องถิ่น หมายถึง เครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง) มีเรื่องเล่าว่าพ่อขุนงำเมืองไล่จับพ่อขุนรามที่แปลงกายเป็นเสือไปติดกับดัก ณ บริเวณนี้ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าบ้านขะตั๊ม ต่อมาเพี้ยนเป็น บ้านต๊ำ


             หมู่บ้านต๊ำกลางในปัจจุบัน เดิมทีเป็นป่า ทุ่งนา ต่อมามีชนเผ่าลั๊วะได้ย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ในช่วงปีพ.ศ. 2485 -2488 เนื่องจากเดิมชนเผ่าลั๊วะนิยมตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงดอย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตร จึงเกิดการรุกรานของชาวท้องถิ่น อีกทั้งในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้รุกรานจังหวัดลำปาง ทำให้ประชาชนในเมืองย้ายออกนอกอำเภอมากขึ้น ชนเผ่าลัวะจึงย้ายถิ่นฐาน เพื่อหาพื้นที่ ทำกินใหม่ มายังบริเวณบ้านต๊ำกลางในปัจจุบัน กระจายบ้านเรือนไปจนถึงทิศใต้ของบ้านต๊ำกลางในปัจจุบันซึ่งอยู่เชิงดอย มีขุนน้ำต๊ำไหลผ่านแต่เนื่องด้วยปัญหาการแบ่งชาติพันธุ์ ทำให้ชาวลั๊วะไม่เปิดเผยชนชาติและการกลืนกันทางวัฒนธรรม การพูดภาษาลั๊วะลดลง จนเลือนหายตามเวลา
               ต่อมาหมู่บ้านต๊ำพระแล (ทุ่งยาว) และหมู่บ้านต๊ำใน มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงขยับขยายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านต๊ำกลางในปัจจุบันและอยู่ร่วมกับชนเผ่าลัวะ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ต๊ำกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหมู่บ้านต๊ำพระแลและหมู่บ้านต๊ำใน
               ในขณะนั้นหมู่บ้านต๊ำกลางยังไม่มีวัด โรงเรียน หรือสถานีอนามัย หากต้องการทำบุญชาวบ้านจะต้องไปที่วัดขุนต๊ำหากเจ็บป่วยชาวบ้านบางคนยังคงรักษาตามความเชื่อพื้นเมือง โดยมีหมอเป่าคือนายเป่ง ตามแผ่น มีหมอแหก คือ นายมือ เรืองงาม และหมองูคือนายไข่ เหมี่ยงหอม หรือรักษาตามแผนปัจจุบัน โดยไปหานายเสาร์ เดินอด หรือนายนิ่ว ซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้าน หรือไปหา นายพุทธ ที่หมู่บ้านต๊ำพระแลซึ่งเป็นหมอประจำตำบล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ขณะที่ นายหล้า หาสิ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้แยกวัดมาตั้ง ณ หมู่บ้านต๊ำกลาง และสร้างโรงเรียนบ้านต๊ำกลางในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการก่อตั้ง สถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำขึ้น เพื่อดูแลปัญหาความเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้านในตำบล และปี พ.ศ. 2518 มีการระบาดของมาลาเรียในจังหวัดพะเยา ในช่วงนั้นมีชาวบ้านต๊ำกลาง เป็นเพียง 2- 3 คน ได้รับการรักษา ที่โรงพยาบาลพะเยา จนหาย และนายเสาร์ เดินอด ได้เป็นอาสามาลาเรียคนแรกและคนเดียวในหมู่บ้าน และในปีนี้ได้เริ่มมีการใช้ส้วมซึมจากเดิมที่ใช้ส้วมหลุม มี ผสส. กลุ่มแรกของหมู่บ้านต๊ำกลางคือ นางสีคำ สันสุวรรณ นายประดิษฐ์ ใจตรง และนางสุพรรณ อ้อยหวาน ในปี พ.ศ. 2523 ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิก ผสส. และปรับเปลี่ยนเป็น อสม. ซี่ง อสม.รุ่นแรกคือนายสมมี คำโฮ้ง, นายเสาร์ เดินอด, นายบุญหนัก ปิงวงค์, นายเป็ง ตามแผ่น และนายอินคำ เป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2523 และมีการรณรงค์การคุมกำเนิดในช่วงปี พ.ศ. 2524- 2528
          แต่เดิมในช่วงกลางคืนชาวบ้านใช้แสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน จนกระทั่งมีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2525 และเดิมการคมนาคมในหมู่บ้านยังคงใช้ถนนดินแดงและใช้ล้อเกวียน จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2527 ได้มีการสร้างถนนลาดยาง และจากเดิมที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากบ่อน้ำแต่ละบ้าน ได้มีน้ำประปาภูเขาในปี พ.ศ. 2545
ในด้านการเกษตร แต่เดิมชาวบ้านจะทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ต่อมานายหมิง ตามแผ่น ได้ริเริ่มการเลี้ยงปลา ในบริเวณหมู่บ้านต๊ำกลาง เมื่อมีรายได้ดี ชาวบ้านจึงขุดพื้นที่ทำนาบางส่วน ใช้เลี้ยงปลา เพื่อส่งขายให้แก่นายค้า และมีการจัดตั้งสหกรณ์กลุ่มเลี้ยงปลาขึ้นในเวลาต่อมา และกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยา
ด้านการศึกษา เนื่องจากการเข้าถึงเขตเมืองได้ง่ายขึ้นจากเดิม และประชากรวัยเด็กลดลง จึงได้ยุบโรงเรียนบ้านต๊ำกลางลงในปี พ.ศ. 2555 โดยไปเรียนรวมกับโรงเรียนต๊ำพระแล

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับตำบลท่าจำปี
  • ทิศใต้ ติดกับตำบลบ้านต๋อม
  • ทิศตะวันออก ติดกับบ้านต๊ำพระแล
  • ทิศตะวันตก ติดกับบ้านต๊ำใน และ อ. วังเหนือ จ.ลำปาง

ประวัติชุมชนบ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา
ที่มา : จากนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา         

               ในปัจจุบันหมู่บ้านต๊ำกลางมี นายประยุทธ เกษมเศรษฐพัฒน์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีวัดต๊ำกลางเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา มีภูมิลำเนาเป็นคนในท้องถิ่น วิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพอย่างเรียบง่าย มีการประกอบอาชีพหลักคือ ทำการเกษตรที่อยู่กับไร่นา บ่อเลี้ยงปลา มีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

               บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 มีบ้านเรือนทั้งหมด 147 หลังคาเรือน  มีประชากรททั้งหมด 538 คน แบ่งเป็น เพศหญิง 267 คน เพศชาย 271 คน ที่ตั้งของหมู่บ้านมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ของเทือกเขาดอยหลวง พื้นที่ของหมูบ้านมีทั้งหมด 2,960 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 1,400 ไร่ พื้นที่ทำนา 700 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 860 ไร่พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างเป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ เนื่องจากในสมัยก่อนพื้นที่รอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจึงนิยมใช้ไม้ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและนิยมทำเป็นสองชั้นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากใต้ถุนบ้านได้เช่นการเก็บของ หรือทำเป็นคอกให้สัตว์เลี้ยง ปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุเข้ามา มีการน้ำอิฐบล็อกและคอนกรีตสร้างบ้านเรือนมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากที่เคยเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนบ้านปัจจุบันมีการเลี้ยงแบบฟาร์มมากขึ้นชาวบ้านเลิกการเลี้ยงสัตว์และหันมาทำเกษตรสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสร้าบ้านเรือนมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตของผู้คน จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยแบบเดิมกับสมัยใหม่เกิดเป็นบ้านสองชั้นที่เป็นชั้นที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้วเพื่อแสดงขอบเขตของบ้าน มีบ้านบางหลังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ สภาพบ้านเรือนในปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร การตั้งบ้านเรือนตั้งตามถนนภาพในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 9ซอย สภาพภายในหมู่บ้านเป็นชุมชนที่แวดล้อมด้วย สวน ไร่นา บ่อเลี้ยงปลา ภูเขา มีแม่ต๊ำไหลผ่าน และมีน้ำตกจำปาทองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านละแวกใกล้เคียงและจากที่อื่นๆจำนวนมาก ชาวบ้านต๊ำกลางมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน อยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวบ้านต๊ำกลางจะประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการทำการเกษตรแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านที่สืบทอดต่อกันมา
  • อาชีพหลัก คือ อาชีพทำนา ทำสวนลำไย ทำสวนยางพารา ทำบ่อเลี้ยงปลา
  • อาชีพรอง คือ ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ทำไร่มันสำปะหลัง สวนปาล์ม 
  • อาชีพเสริม คือ รับจ้างทั่วไป ปลูกผักสวนครัว ค้าขาย หาของป่า


การคมนาคม

               บ้านต๊ำกลาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดพะเยาห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยาประมาณ 17 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที (Google Maps) การเดินทางมายังบ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลบ้านต๊ำสามารถเดินทางมาได้โดยใช้ถนน สายเอเชีย พะเยา – เชียงราย จุดเริ่มต้นอยู่ที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา เลี้ยวซ้ายผ่านสี่แยกไฟแดงหน้าตลาดสดมณีรัตน์ และสามแยกไฟแดงบ้านร่องห้าเลี้ยวเข้าสู่ถนนพหลโยธินหมายเลข 1 ตรงมาประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวขาวที่สี่แยกบ้านต๋อมเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1001 ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไฟแดงบ้านต๊ำ หมู่ที่ 5 ผ่านบ้านต๊ำม่อน ต๊ำพระแล เข้าสู่หมู่บ้านต๊ำกลางโดยก่อนถึงหมูบ้านประมาณ 1 กิโลเมตรจะมองเห็นจุดสังเกต คือ ร้านกาแฟบ้านปลา และเห็นบ่อปลาสลับกับทุ่งนาจำนวนมาก พอเข้าสู่หมู่บ้านจะเห็นโรงเรียนบ้านต๊ำกลางอยู่ทางขวามือถัดมาเป็นวัดต๊ำกลาง ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง ถนนคอนกรีตและถนนลูกรังบางสาย การติดต่อภายในหมู่บ้านประชาชนจะใช้จักรยาน และรถจักรยานยนต์ ส่วนการติดต่อระหว่างหมู่บ้านและการเดินทางเข้าตัวเมืองพะเยาประชาชนจะใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนบุคคล

สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นที่ราบโดยมีห้วยน้ำต๊ำไหลผ่านหมู่บ้าน พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทราย ชาวบ้านจะทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกหอม ซึ่งปัจจุบันที่นาบางส่วนถูกขุดเพื่อทำสระเลี้ยงปลานิล และอีกบางส่วนถูกถม เพื่อปลูกยางพารา

สภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 3 ฤดู
  • ฤดูร้อน:อยู่ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมและจะร้อนจัดในเดือนเมษายน ช่วงนี้มักจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่นข้าวโพด กระเทียม ทำไร่มันสำปะหลัง เลี้ยงปลานิลและรับจ้างทั่วไป
  • ฤดูฝน : อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมจะมีปริมาณฝนตกมากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนช่วงนี้ชาวบ้านจะทำนา ทำไร่ ได้แก่ ไร่ข้าวโพด ถั่วดำ ทำสวน ได้แก่ สวนยางพาราและสวนผลไม้ (เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย) 
  • ฤดูหนาว : อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะหนาวจัดในช่วงเดือน ธันวาคมถึงเดือนมกราคม ช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพด ถั่วดำ มันสำปะหลัง และเริ่มปลูกหอมแดง กระเทียม ทำสวนยางพารา
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของบ้านต๊ำกลาง หมู่ 8 ตำบลบ้านต๊ำ มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ มีการบำรุงดิน มีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งส่วนประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตร บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 มีพื้นที่ของหมูบ้านมีทั้งหมด 2,960 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 1,400 ไร่ พื้นที่ทำนา 700 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 860 ไร่พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบรูณ์เต็มไปด้วยพืชพรรณการเกษตร เช่น สำไย ลิ้นจี่ ข้าวโพด กระเทียม หอมแดง มันสำปะหลัง มะม่วง มะขาม ยางพารา และข้าว

ลักษณะดินในหมู่บ้านต๊ำกลาง หมู่ที่ 8 โดยทั่วไปเป็นดินร่วน และดินเหนียวในทุ่งนาซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก การทำนา และดินร่วนปนทรายในพื้นที่ตั้งบ้านเรือน

แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคของหมู่บ้าน ได้แก่

  1. น้ำประปาภูเขา
  2. น้ำฝน 
  3. ห้วยน้ำต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน
ที่มา : จากนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา  

               กิจกรรมด้านการเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่กิจกรรมในหมู่บ้านจะเป็นเกี่ยวกับทางการเกษตร คือช่วงเดือนมิถุนายนจะเริ่มหว่านกล้า ปลูกข้าว และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มีการเกี่ยวข้าว ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จะมีการปลูกผักสวนครัว ข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลัง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมจะเก็บลำไย ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม จะเก็บเกี่ยวปาล์ม ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ กรีดยางพารา และปิดหน้ายางในเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีการค้าขายและเก็บของป่าตลอดทั้งปี ส่วนการประมง ทำบ่อเลี้ยงปลา ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงปลาตลอดทั้งปี

ที่มา : จากนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา  

ระบบสุขภาพชุมชน 
          ระบบสุขภาพชุมชนบ้านกลาง หมู่ 8 ตําบลบ้านต๊ำ อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา คนในชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งธรรมชาติมากมาย ได้แก่ ใช้แหล่งต้นน้ำ ลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภค, เป็นแหล่งอาหารที่หาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ต่างๆ ผักผลไม้ ปลาต่างๆนาๆชนิด และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปรักษากับ แพทย์พื้นบ้าน หรือหมอเมือง ซึ่งด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนบ้านต๊ำกลาง มี 2 ประเภท คือการรักษาโรคที่ใช้ สมุนไพรเป็นยา ซึ่งรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องเป็นต้น และการไม่ใช้ยาจะเป็น การใช้ความเชื่อพื้นบ้าน การบีบ นวด ซึ่งโรคที่รักษาจะสัมพันธ์กับความเชื่อในชุมชน เช่น การเป่า การสะเดาะ เคราะห์ สู่ขวัญ การดื่มน้ำมนต์ การแหก เลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับบริการสุขภาพจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อย เพราะถนนลูกรังดินแดง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกล

ที่มา : จากนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา  
         
ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งด้านการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การได้รับข่าวสาร เพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป การประกอบอาชีพก็หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่มีหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลูกข้าวโพด ลำไย ถั่วลิสง มะเขือม่วงญี่ปุ่น เป็นต้น

จากการสำรวจและการสัมภาษณ์พบว่ามีสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ดังนี้
  1. อาหาร พบว่าประชากรมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้ที่หน้าบ้าน ที่สวนไว้รับประทานอาหาร และขาย รวมทั้งมีร้านค้าที่เรียกว่า “กาด” จะเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ซึ่งจะรับซื้อมาจากตลาดในเมือง และส่วนใหญ่มักจะปรุงอาหารรับประทานเองในครัวเรือน จากการสอบถามข้อมูล คำพูดของชาวบ้านรายหนึ่ง นายควร อ้อยหวาน บอกว่า “ ทำกับข้าวขายบ่ไจ้มีคนมาซื้อ เขายะก็บ่ลำเต้ายะกิ๋นเอง” และเมื่อมีการประชุมหมู่บ้านก็จะมีการทำกับข้าวเลี้ยงซึ่งเป็นอาหารที่คนในหมู่บ้านมักจะรับประทาน เช่น แกงเขียวหวาน ขนมจีน ลาบปลา ลาบหมู แกงอ่อม และหลังจากเลิกงานก็มักจะมีกินเลี้ยงสังสรรค์ อาหารที่มักทำเป็นเครื่องเคียง เช่น หลู้ ก้อยปลาดิบ แหนม ปลาส้ม เป็นต้น การใช้แหล่งต้นน้ำลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการเกษตรและอุปโภค การบริโภคส่วน ใหญ่จะเป็นน้ำดื่มบรรจุภัณฑ์จาก ชุมชนบ้านต๊ำใน หมู่ 8 จากการสำรวจและการสอบถามข้อมูลจากคนใน ชุมชน 
  2. การออกกำลังกาย พบว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่นิยมออกกำลังกาย เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาแล้วต้องเตรียมอาหารในแต่ละวัน และมีความเชื่อว่าการทำงานก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีประชากรส่วนน้อยที่ออกกำลังกายนานๆครั้ง สัปดาห์ละ1-2ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 15-20 นาที คือ การเดินเร็วปั่นจักรยาน 
  3. ความเชื่อทางไสยศาสตร์ พบว่าในปัจจุบันนี้การรักษาทางไสยศาสตร์นั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนมากจะมีการรักษาโรคทางไสยศาสตร์ ก็ต่อเมื่อรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ซึ่งความเชื่อที่ชาวบ้านนิยมทำกันคือ การถามหมอดู การถามร่างทรง 
ที่มา : จากนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา

ประเพณีและพิธีกรรมของชุมชน 

ตานข้าวใหม่ (เดือน 4) ประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยจะทำในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว โดยการตานข้าวใหม่นี้จะนำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งนี้มารับประทาน ก่อนที่จะนำมารับประทานต่อไป จะต้องนำข้าวใหม่ที่นึ่งแล้วมาประกอบเป็นอาหาร ขนม (แล้วแต่ละครัวเรือน)

ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า (เดือน 4) ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าคือการนำเอาฟืนมาเผา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ชาว ล้านนามีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นเช่นเดียวกับคนเรา จึง ร่วมกันหาไม้ฟืนมาจุดเผาไฟผิงให้เกิด

ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เดือน 5 แรม 13 ค่ำ และเดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่เดิมซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือและเชื่อว่าการ บูชาและให้ความเคารพจะทำให้หมู่บ้านปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง และบางกรณี เช่น การสอบเข้า ทำงาน การสอบเข้าเรียนต่อ หรือการทำธุรกิจต่างๆ ชาวบ้านก็จะมีการบนบาลหอเจ้าบ้าน เพื่อให้กระทำต่างๆ สำเร็จด้วยดี

ปี๋ใหม่เมือง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (เดือน 7) ประเพณีที่สืบทอดกันมา การรดน้ำดำหัวจะทำในวันสงกรานต์ โดยลูกหลานจะกลับมารดน้ำดำหัวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้ที่เคารพนับถือ และจะมีคำอวยพรจากบุคคลที่เราไปรดน้ำดำหัว ในวันนี้เป็นวันที่รวม ญาติ พี่ น้อง คนในครอบครัว เป็นประเพณีการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ของชาวล้านนา จะแตกต่างจาก สงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้นปีใหม่เมืองของ ชาวล้านนา จึงมีวันและการปฏิบัติตนตามระบบโหราศาสตร์ ปักกะทืนล้านนา ประกาศออกมาเป็นหนังสือปี ใหม่เมือง มีวันและกิจกรรมมากกว่าสงกรานต์ของคนภาคกลางได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วัน ปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม

สลากภัตรและทอดกฐิน (เดือนเกี๋ยง) สลากภัตรหรือตานก๋วยสลากของชาวล้านนา เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่แสดงออกถึง ความสามัคคีกันในการมาพร้อมหน้าในบรรดาหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อการทำบุญถึงญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้ ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานในดินแดนล้านนา เริ่มราววันเพ็ญเดือน ๑๒ เหนือ หรือประมาณ เดือนกันยายน และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี

ประเพณียี่เป็ง ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่เป็ง คําว่า "ยี่" ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือน ๒ ส่วนคําว่า "เป็ง" หมายถึง คืนที่พระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของคน ภาคกลาง การนับเดือนของทางล้านนาจะเร็วกว่าภาคกลางไป ๒ เดือน อันเนื่องมาจากการนับเดือนของคน ล้านนา นับเดือนทางจันทรคติ ประเพณียี่เป็ง ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดู ปลายฝนต้นฤดูหนาว น้ำเหนือเริ่มเหือดแห้ง เมฆฝนเริ่มจากไป เป็นเทศกาลแห่งลมเหนือเมื่อหนาว ท้องทุ่งข้าว ออกรวงเหลืองอร่าม

ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าชุมชน 

  • ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ (เดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีการเลี้ยงผีขุนน้ำบ้านต๊ำใน เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่าในป่ามีผีที่ดูแลรักษาป่า ชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าจากน้ำ จึงได้มีการแสดงความเคารพต่อผีเหล่านั้นโดยการเซ่นไหว้บูชาเป็น ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดจิตสํานึกในการดูแล รักษาป่าและเป็นการสืบทอดประเพณีพิธีกรรมไม่ให้สูญหายไปโดยผีที่ชาวบ้านทําวิธีเลี้ยงมี 4 ตน คือเจ้าพ่อ ข้อมือเหล็ก ผีเจ้าป่า ผีขุนต๊ำา ผีปกกะโล่ง ซึ่งเป็นทั้งผีเจ้าพ่อและผีป่า การเตรียมงานสมัยก่อนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเครื่องเซ่นไปร่วมงานกัน ตอนเช้าผู้ใหญ่บ้านจะเคาะกระบอกไม้ไผ่ให้ชาวบ้านไปรวมกัน ในป่าบริเวณป่าน้ำจําปัจจุบันแกนนําจะเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนโดยจะมีการเก็บเงินชาวบ้านทุกครัวเรือน เพื่อนําไปซื้อเครื่องเซ่นเพื่อทําพิธีกรรม การเลี้ยงผีจะกระทําในเดือน 9 แรม 13 ค่ำ (เดือนมิถุนายน) ณ หอพิธีกรรมประจําหมู่บ้านประมาณ 9 โมงเช้าโดยจะนําไก่เป็นจํานวน 8 ตัว ไปต้มในป่าเครื่องเซ่นไหว้ผี ทั้งหมดจะมีไก่ต้ม 8 ตัว เหล้าต้ม 4 ขวด มีธูป 2 เทียน 2 พร้อมข้าวตอกดอกไม้โดยมีผู้สูงอายุไปกล่าวคํา อัญเชิญเจ้าป่าเจ้าเขามารับเครื่องสักการะบอกให้ช่วยให้ฝนตก ดูแลป่ามีน้ำใช้ในการเกษตร หลังจากเทียนหมด แสดงว่าผีได้มากินเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมจะเสร็จประมาณเที่ยงหลังจากนั้นชาวบ้านที่เข้ามาร่วม พิธีกรรมก็ รับประทานอาหารร่วมกัน 
  • การสืบชะตาแม่น้ำ (เดือน 9) การสืบชะตาแม่น้ำเป็นการประยุกต์พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นกุศโลบาย ในการอนุรักษ์และ ฟื้นฟูแม่น้ำที่ประยุกต์มาจากการสืบชะตาคนเพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่ได้ใช้ประโยชน์และกระตุ้นจิตสํานึกการ อนุรักษ์แม่น้ำของคนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาป่าร่วมกันบางครั้งจะทํา ควบคู่กับการบวชป่าการสืบชะตาแม่น้ำจะทําในบริเวณลําห้วยแม่ต๊ำในเดือน 9 (มิถุนายน)โดยการนิมนต์ พระสงฆ์ทําพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่กระทําทุกปีจะกระทําก็ต่อเมื่อปีไหนที่ฝนไม่ตก น้ำแห้ง ชาวบ้านจะ รวมตัวกันจัดทําการสืบชะตาแม่น้ำขึ้น 
  • การบวชป่า (เดือน 9) การบวชต้นไม้เป็นกุศโลบายในการรักษาป่าที่ประยุกต์มาจากการบวชพระการนําผ้าเหลืองมามัดไว้กับ ต้นไม้ใหญ่แสดงว่า ต้นไม้ดังกล่าวได้ผ่านการบวช คนที่จะมาตัดฟันจะมีบาปเท่ากับฆ่าพระ การบวชป่าจึงเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านหลายพื้นที่ได้นํามาใช้ในการรักษาป่าซึ่งจะไม่มีการทําเป็นประจําทุกปีแต่ก็ทําเป็นบางครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมทั้งการระดมทุน ส่วน ใหญ่การบวชป่าจะทําพร้อมกับการสืบชะตาแม่น้ำเพราะเป็นประเพณีที่พระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมนอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในป่าด้วยในการเตรียมงานนําโดยพ่อหลวงบ้านและกรรมการป่าชุมชนบ้านต๊ำใน จัดเตรียมสถานที่และนิมนต์พระสงฆ์จํานวน 4 รูปหรือ 9 รูป พิธีกรรมจะเริ่มช่วงเช้า ณ หอพิธีกรรม พระสงฆ์ กล่าวเจริญพระพุทธมนต์ ผู้สูงอายุชาวบ้านนําผ้าเหลืองไปผูกมัดต้นไม้ใหญ่ในป่า 
Check in BanTumKlang M.8 Bantum Phayao Thailand


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก
คณะนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา