บ้านต๊ำใน หมู่ 9
ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประวัติศาสตร์ชุมชนหมู่บ้านต๊ำใน
คำว่า “ต๊ำ” มีความเป็นมาอยู่ 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่หนึ่งเป็นแนวคิดเชิงธรรมชาติมีน้ำขุนต๊ำไหลผ่านจึงได้นามตามขุนน้ำว่าบ้านต๊ำ แนวคิดที่สองเป็นแนวคิดเชิงนิทานพื้นบ้าน คือ มาจากคำว่า ขะตั๊ม (ภาษาท้องถิ่น หมายถึงเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง) มีเรื่องเล่าว่าพ่อขุนงำเมืองไล่จับพ่อขุนรามที่แปลงกายเป็นเสือไปติดกับดัก ณ บริเวณนี้ ดังนั้นบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าบ้านขะตั๊มต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านต๊ำนั้นเอง
พ.ศ. 2440-2449
- พ.ศ.2442 พ่อแก้ว แม่ปัน (บ้านเดิมอยู่บ้านถ้ำ บ้านปอ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) ย้ายมาอยู่บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 6 ต.บ้านต๊ำ อ.เมืองพะเยา จ.เชียงราย ในขณะนั้นได้มาทำไร่ปลูกข้าว และได้สร้างบ้านพักแรมอยู่บริเวณบ้านต๊ำในปัจจุบัน
- พ.ศ. 2445 มีชาวบ้านลับแลเข้ามาสร้างบ้านอยู่ด้วย 3 หลังคาเรือน คือ พ่อเขียว แม่จันทร์ และแม่แดง มาพักทำไร่ข้าวโพดด้วยกันจึงชื่อว่า บ้านไร่แม่ต๊ำ และมีท้าวคำวัง เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีบ้านอยู่ 6 หลังคาเรือน
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา
พ.ศ. 2450-2459 - พ.ศ. 2450 วัดบ้านต๊ำพระแล ได้เข้ามาชักชวนชาวบ้านไร่ แม่ต๊ำ ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ 18 หลังคาเรือน ได้สร้างอารามขึ้น (บริเวณที่ตั้งประปาหมู่บ้านในปัจจุบัน) จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์ชัยคีรี โดยมีพระปินตาเป็นเจ้าอาวาส
- พ.ศ. 2456 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลโดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 (ที่มา: www.th.wikipedia.org สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) โดยท้าวคำวัง ผู้ใหญ่บ้านคนแรกจึงได้ใช้นามสกุล เดินอด โดยนามสกุลของกลุ่มเครือญาติในบ้านต๊ำใน จะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์กับป่าและการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น เดินอด ท้าวล่า จักไม้ หมั่นไร่ เก่งแรง อ้อยหวาน (ที่มา : โครงการการจัดการความรู้ในลุ่มน้ำแม่ต๊ำเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น,2548)
- พ.ศ. 2460 เริ่มมีการรักษาโรคด้วยการใช้ยาหม้อ การเป่า โดยใช้รากไม้จากป่าชุมชน และสมุนไพรจากในพื้นที่
- พ.ศ. 2464 ได้ย้ายสำนักสงฆ์จากหัวบ้านมาหัวบ้านมาตั้งไว้ในบริเวณปัจจุบัน มีเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 38.9 ตารางวา โดยมีพระจำปา เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
- พ.ศ. 2474 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2474 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งสำนักสงฆ์ ชัยคีรี เป็นวัดโดยใช้ชื่อว่า วัดต๊ำใน โดยพระจำปาเป็นเจ้าอาวาส
- พ.ศ. 2483 ได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านต๊ำในขึ้น โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน
- พ.ศ. 2486 มีบริษัทเข้ามาสัมปทานในพื้นที่ป่าแม่ต๊ำชาวบ้านในสมัยก่อนมีอาชีพ หาของป่า ล่าสัตว์ และเลื่อยไม้แปรรูปขาย ขณะนั้นการคมนาคมลำบากไม่มีถนน ใช้การเดินทางเข้าหมู่บ้าน โดยการเดินตามคันนา สภาพป่าในขณะนั้นอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าจำนวนมาก (ชะนี,นกยูง,นกกก,แร้ง,นกแก้ว,ไก่ป่า) สัตว์ป่ายังเข้ามาหากินในบริเวณชุมชนซึ่งติดป่า
- พ.ศ. 2488 มีร้านค้าร้านแรกคือร้านค้าพ่อใหญ่ โดยจะขายสบู่
- พ.ศ. 2490 เริ่มมีตะเกียงน้ำมันก๊าด
- พ.ศ. 2498 ได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว บริเวณหน้าวัดโดยมี นายศรีวรรณ ข่ายสุวรรณ เป็นครูใหญ่และเริ่มมีส้วมหลุมใช้สำหรับการสุขาภิบาล
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีี พะเยา
พ.ศ. 2500-2509 - พ.ศ. 2500 เริ่มมีการตัดถนนเข้าหมู่บ้านแต่ยังคงไม่มีการราดยาง เริ่มมีส้วมซึม โดยตามพระราชบัญญัติปี 2485 รัฐบาลได้ร่วมมือกับองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2503 โดยเริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่นมีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วมและรณรงค์ให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในส้วม จนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) ในปี 2532 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานให้ประชาชนในประเทศไทยมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลในทุกครัวเรือน (ที่มา www.gotoknow.org สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561)
- พ.ศ. 2506 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีนายใหม่ หาทรัพย์ ได้บริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียน จำนวน 8 ไร่ 16 ตารางวา โดยมี นายประเชิญ พรหมมิ เป็นครูใหญ่
- พ.ศ. 2508 เริ่มมีโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้าน โดยใช้งานจากแบตเตอรี่ ชาวบ้านต่างพากันมาดูละคร และจ้อย ซอ ที่บ้านนายประเชิญ พรหมมิ
- พ.ศ. 2509 วัดต๊ำใน ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2507 ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ที่มา www.onab.go.th สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ) และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดขุนต๊ำ โดยพระครูโสภณ ธรรมมุณี (พระธรรมโมลี วัดศรีโคมคำ) โดยมีพระสง่า สิริปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส
- พ.ศ. 2515 เริ่มมีโรงสีข้าวหลังแรกหลังจากใช้วิธีการตำข้าว
- พ.ศ. 2516 ได้มีการสัมปทานป่าไม้โดยนายทุนจังหวัดพะเยา (บริษัทเชียงรายทำไม้) ชาวบ้านในชุมชนเริ่มหวั่นวิตกเพราะป่าไม้เริ่มหายไป ชุมชนกำลังประสบปัญหาไม่มีน้ำใช้จากที่เคยมีน้ำให้ตักได้ก็แห้งแล้งและเริ่มลดน้อยลงมาก
- ได้มีการจัดตั้งสถานีอนามัยบ้านต๊ำขึ้น โดยการพยายามเรียกร้องให้มีการกระจายระบบสุขภาพออกไปต่างจังหวัดมากขึ้นและมีการพัฒนาโครงการสาธารสุขมูลฐานขึ้นมาในช่วงแรกๆ พ.ศ.2511-2512พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพคนในต่างจังหวัดมากขึ้น และเน้นการป้องกันมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2515-2517 (ที่มา www.hfocus.org สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561)
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีี พะเยา
พ.ศ. 2520-2529 - พ.ศ. 2520 ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าจำนวน 5 คน และได้จัดวางกฎระเบียบหรือกฏเกณฑ์ร่วมกัน หากใครตัดไม้ให้มีการปรับเงินจำนวน 100-300 บาท
- พ.ศ. 2524 สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนีและสมเด็จพระพี่นางกัลยานิวัฒนาฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดพะเยา ณ โรงเรียนบ้านต๊ำใน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 ทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารในมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว (ที่มา www.th.m.wikipedia.org สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) และบ้านทุกหลังได้สร้างบ่อน้ำเพื่อใช้สอยขึ้น
- พ.ศ. 2529 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพะเยา ได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับชาวบ้านต๊ำใน
- พ.ศ. 2530 เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่ม อสม. ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) จัดอบรมผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัตรสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) (ที่มา www.hfocus.org สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) โดยมีนายอ้าย ท้าวล่า เป็น อสม.คนแรกของหมู่บ้าน
- พ.ศ.2540 สำนักงานเร่งพัฒนาชนบท จังหวัดพะเยา ได้ก่อสร้างประปาหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านต๊ำในได้ใช้อุปโภค – บริโภค ในช่วงปี พ.ศ. 2525-2534 ซึ่งเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 และ 6 คณะรัฐมนตรีได้มีมิติกำหนดให้เป็นช่วงทศวรรษการจัดหาน้ำสะอาดและสุขาภิบาล (ที่มา www.202.129.59.73/tambol/sara/090648/090648.htm สืบค้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561)
- พ.ศ. 2542 สำนักงานเร่งพัฒนาชนบท จังหวัดพะเยา ได้ก่อสร้างถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้าน และประชาชนต่างเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพได้สะดวกมากขึ้น
- พ.ศ. 2544 ป่าชุมชนบ้านต๊ำได้มีการทำพิธีบวชป่าขึ้นพร้อมเปิดป้ายแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ
- พ.ศ. 2546 เริ่มมีถนนคอนกรีตและการประปาเพื่อการเกษตร
- พ.ศ. 2548 สมัยผู้ใหญ่บ้านคนที่ 11 (นายตรง ท้าวล่า) ได้เริ่มมีการสร้างแหล่งเรียนรู้ชุมชน และจัดตั้งโฮมสเตย์
- พ.ศ. 2553 ได้เปลี่ยนจากสถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำ ตามนโยบายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปีพ.ศ.2552 ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณภายใต้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (ที่มา www.th.wikipedia.org สืบค้นเมื่อวันที่ 23/2/2561)
- พ.ศ. 2555 หมู่บ้านเข้าโครงการหมู่บ้านปลอดควันไฟป่า
- พ.ศ. 2559 หมู่บ้านได้เกิดอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายให้กับบ้าน 2 หลังคาเรือนบริเวณริมลำน้ำแม่ต๊ำและลำน้ำห้วยน้อยจึงทำให้เกิดการย้ายที่อยู่อาศัยเกิดขึ้น
- ปัจจุบันบ้านต๊ำหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านต๊ำ มีจำนวนหลังคาเรือน 201 หลังคาเรือน ประชากร 935 คน เป็นชาย 434 คน หญิง 501 คน มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 150 ไร่ พื้นที่การเกษตร 325 ไร่ พื้นที่ป่าใช้สอย 1,000 พื้นที่สาธารณะ 25 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชน 3,000 ไร่
สภาพพื้นที่และพื้นที่บ้านต๊ำใน บ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 มีพื้นที่โดยรวม 4,500 ไร่ ได้แก่
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 3,000 ไร่
- พื้นที่ป่าใช้สอย จำนวน 1,000 ไร่
- พื้นที่ตั้งบ้านเรือน/ชุมชน จำนวน 150 ไร่
- พื้นที่สาธารณะ จำนวน 25 ไร่
- พื้นที่การเกษตร จำนวน 325 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลท่าจำปี
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านต๋อม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านต๊ำกลาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม- พฤษภาคม อากาศ ร้อนที่สุดเดือน เมษายน
- ฤดูฝน ระหว่างเดือน มิถุนายน – ตุลาคม มีฝนตกชุกในเดือน สิงหาคม-กันยายน ทุกปี
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ อากาศมักหนาวจัดในเดือน ธันวาคม-มกราคม

ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 13 ซอย เป็นถนนคอนกรีต 9 ซอย และถนนลูกรัง 4 ซอย มีไฟข้างทาง(ไฟกิ่ง) ของภาครัฐแต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอ ส่วนน้ำดื่ม ส่วนใหญ่จะซื้อน้ำบรรจุขวดสำเร็จรูปจากโรงน้ำของคนในชุมชนและของหมู่บ้านข้างๆ และในชุมชนมีวัด 1 แห่ง คือ วัดขุนต๊ำ เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน และร้านขายของชำ 5 แห่ง
การคมนาคม
บ้านต๊ำใน หมู่ 9 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองพะเยา หรืออยู่อีกฝั่งหนึ่งของตัวเมืองพะเยา ระยะทางห่างจากตัวเมืองพะเยา ประมาณ 24 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที การเดินทางมายังบ้านต๊ำใน หมู่ 8 สามารถเดินทางมาได้โดยใช้ถนนสายหลัก คือ ถนนพหลโยธินสายเอเชียหมายเลข 2 (AH2) จากจังหวัดพะเยาไปจังหวัดเชียงราย โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา เลี้ยวซ้ายผ่านสี่แยกไฟแดงหน้าตลาดสดมณีรัตน์ และสามแยกไฟแดงบ้านร่องห้าเลี้ยวเข้าสู่ถนนพหลโยธินหมายเลข 2 ผ่านแยกร่องห้า และเลี้ยวซ้ายแยกบ้านต๊ำเข้าสู่ถนนหมายเลข 1127 หรือ เส้นทางบ้านท่าเรือ – น้ำตกจำปาทอง ซึ่งทางเลี้ยวซ้ายจะมีจุดสังเกตคือ ป้ายสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ ตรงมาประมาณ 5 กิโลเมตร และผ่านบ้านต๊ำดอนมูล โดยผ่านโรงเรียนต๊ำดอนมูล ผ่านบ้านต๊ำน้ำล้อม โดยผ่านวัดต๊ำน้ำล้อม ผ่านสี่แยกไฟแดง และตรงไป ประมาณ 1 กิโลเมตร จะผ่านวัดต๊ำม่อน ผ่านหมู่บ้านต๊ำพระแล ซึ่งผ่านสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ เมื่อถึงโรงเรียนต๊ำพระแล จะเป็นสามแยก ให้เลี้ยวซ้าย ซึ่งมีจุดสังเกตคือ หอนาฬิกา ตรงมา ประมาณประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นจุดสังเกตคือ ธรรมนัสฟาร์มซึ่งอยู่ฝั่งขวามือ ตรงมาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบจุดสังเกตคือ ร้านกาแฟร้านและอาหารบ้านปลา ซึ่งเป็นจุดสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลบ้านต๊ำ ตรงมาเข้าสู่หมู่บ้านต๊ำกลาง อีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึง 3 แยก ซึ่งเป็นเข้าหมู่บ้านอยู่ฝั่งขวามือ ตรงไปเป็นน้ำตกจำปาทอง เลี้ยวขวาเข้าบ้านต๊ำในซึ่งจะมีจุดสังเกต คือ ป้ายหมู่บ้านต๊ำใน จากนั้นตรงๆมาเรื่อยอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงบ้านต๊ำใน ถนนที่ใช้ในหมู่บ้านเป็นถนน คอนกรีตรอบหมู่บ้าน มีถนนลาดยางผ่านหมู่บ้านซึ่งติดต่อไปสู่ป่าใช้สอย มีถนนลาดยาง เป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน และมีซอยซึ่งมีทั้งถนนคอนกรีตและถนนลูกรัง การติดต่อภายในหมู่บ้านประชาชนจะใช้รถจักรยาน จักรยานยนต์ รถไถ เป็นพาหนะ หรือการเดินทางเข้าตัวเมืองพะเยาประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางโดยรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วน บุคคล
การทำแนวกั้นไฟพื้นที่ป่าชุมชน
การดับไฟป่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าในฤดูแล้งที่มีอากาศแห้งแล้งลมแรงมีใบไม้ร่วงเป็นจำนวนมากเพื่อทำการชิงเผาก่อน ที่จะมีไฟไหม้อย่างรุนแรงจะทำในฤดูแล้งโดยการทำแนวกันไฟรอบเขตป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอยเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย คณะกรรมการป่าชุมชนชาวบ้านเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าร่วมกันทำแนวกันไฟป่ารอบๆป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย หรือชิงเผาจุดที่ล่อแหลมก่อนโดยมีอุปกรณ์คือถังน้ำ จอบ ที่ตีไฟ มีด ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายประกาศมาตรการ 60 วัน อันตราย งดเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. – 16 เม.ย. ของทุกปี ตั้งชื่อน้ำตกตามชื่อขุนเขา ต๊ำ มาจากคำว่า ขะต๊ำ ซึ่งหมายถึง กรงจับสัตว์ เป็นน้ำตกที่สวยงาม มี 9 ชั้นด้วยกัน พื้นที่รอบ ๆ เต็มไปด้วยป่าไม้ และพืชสมุนไพร สัตว์ป่าหลายชนิด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 9 ต.บ้านต๊ำ อำเภอเมือง จ.พะเยา ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของบ้านต๊ำใน
ลักษณะดินในหมู่บ้านต๊ำใน หมู่ที่ 9 โดยทั่วไปเป็นดินร่วน และดินเหนียวในทุ่งนาซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก การทำนา และดินร่วนปนทรายในพื้นที่ตั้งบ้านเรือน
โดยมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ
1. ลำห้วยแม่ต๊ำ
2. ลำห้วยน้อย
แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ฝายน้ำล้น 1 แห่ง น้ำบ่อ และประปาภูเขา
ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรายรับได้มาจากการเกษตร ได้แก่ การทำนา
ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ การค้าขายพืชผลทางการเกษตร รับจ้าง
1. ลำห้วยแม่ต๊ำ
2. ลำห้วยน้อย
แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ฝายน้ำล้น 1 แห่ง น้ำบ่อ และประปาภูเขา
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรายรับได้มาจากการเกษตร ได้แก่ การทำนา
ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ การค้าขายพืชผลทางการเกษตร รับจ้าง
- อาชีพหลัก ของประชาชนบ้านต๊ำใน หมู่ 9 คือ อาชีพทำนา ทำสวนลำไย
- อาชีพรอง คือ ทำสวนยางพารา ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ทำไร่มันสำปะหลัง สวนปาล์ม
- อาชีพเสริม คือ รับจ้างทั่วไป ปลูกผักสวนครัว ค้าขาย หาของป่า
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีี พะเยา
ระบบสุขภาพชุมชน
ระบบสุขภาพชุมชนบ้านต๊ำใน หมู่ 9 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อดีตระบบสุขภาพของชุมชนนั้นจะเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งชุมชนนี้จะมีป่าไม้จำนวนมาก มีทั้งหมด 4500 ไร่ ดังบนความเชื่อที่ว่า “คนอยู่กับป่า” ซี่งป่าชุมชนนี้ คนในชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากมากมาย ได้แก่ ใช้แหล่งต้นน้ำลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการบริโภคอุปโภค, เป็นแหล่งอาหารที่หาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ดต่างๆ ผักผลไม้ ปลาต่างๆนาๆชนิด และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะไปรักษากับแพทย์พื้นบ้าน หรือหมอเมือง ซึ่งด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนบ้านต๊ำใน มี 2 ประเภท คือการรักษาโรคที่ใช้สมุนไพรเป็นยา ซึ่งรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดท้องเป็นต้น และการไม่ใช้ยาจะเป็นการใช้ความเชื่อพื้นบ้าน การบีบ นวด ซึ่งโรคที่รักษาจะสัมพันธ์กับความเชื่อในชุมชน เช่น การเป่า การสะเดาะเคราะห์ สู่ขวัญ การดื่มน้ำมนต์ การแหก เลี้ยงผี เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับบริการสุขภาพจากสถานบริการสาธารสุขมีน้อย เพราะถนนลุกรัง ดินแดง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกลจากการสำรวจและการสัมภาษณ์พบว่ามีสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ดังนี้
1. อาหาร
พบว่าประชากรมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้ที่หน้าบ้าน ที่สวนไว้รับประทานอาหาร และขาย มีการปรุงอาหารรับประทานเองทั้งหมู่บ้าน ซึ่งมักจะใช้เครื่องปรุงรสในการปรุงอาหาร
จากการสอบถามข้อมูล คำพูดของชาวบ้านรายหนึ่ง นางเพ็ญศรี ศรีเสียดงาม บอกว่า “ ถ้าทำกับข้าวสุกขาย จะบ่ได้ขาย หมู่บ้านนี้ ทำอาหารกิ๋นเองกันหมด ”
อาหารนั้นได้มานั้นส่วนใหญ่มาจากการหาของป่า ดั่งคำเชื่อที่ว่า “คนอยู่กับป่า” ได้แก่ หน่อไม้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม เห็ด หาน้ำผึ้งช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ไข่มดแดง ต้นกล้วยป่า ปลาขาว ซึ่งนำวัตถุดิบนี้มาทำเป็นหลาม ได้แก่ หลามไข่มดแดง หลามหยวก เป็นต้น และหลังเลิกจากการทำงานเกษตร จะมีการกินสังสรรค์ อาหารที่มักจะทำกินเป็นลาบปลา ลาบหมูดิบ หลู้ ก้อยปลาดิบ แหนม ปลาส้ม
การใช้แหล่งต้นน้ำลำธารในการผลิตเป็นประปาหมู่บ้านเพื่อการเกษตรและอุปโภค การบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นน้ำดื่มบรรจุภัณฑ์จาก ชุมชนบ้านต๊ำใน หมู่ 9 จากการสำรวจและการสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชน
พบว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่นิยมออกกำลังกาย เนื่องจากมีความเชื่อว่าการการทำงานถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีประชากรส่วนน้อยที่ออกกำลังกายนานๆครั้ง สัปดาห์ละ1-2ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 15-20 นาที คือ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน
3.ความเชื่อทางไสยศาสตร์
พบว่าในปัจจุบันนี้การรักษาทางไสยศาสตร์นั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งส่วนมากจะมีการรักษาโรคทางไสยศาสตร์ก็ต่อเมื่อรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ซึ่งความเชื่อที่ชาวบ้านนิยมทำกันคือ การถามหมอดู การถามร่างทรง โดยหมอดูหรือร่างทรงจะบอกวิธีการแก้ไขให้ตามความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษและมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญกลับสู่ร่างของเจ้าของหรือการเป่าด้วยมนต์คาถา ส่วนใหญ่หลังทำพิธีดังกล่าวแล้วผู้ที่เจ็บป่วยจะมีอาการดีขึ้น
4.สถานบริการ
เมื่อมีการเจ็บป่วยภายในครอบครัวจะนิยมไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๊ำ เนื่องจากอยู่ใกล้หมู่บ้าน การเดินทางสะดวกไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่าย หากมีอาการหนักก็จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพะเยาโดยตรงเลย หรือไปคลินิกเวชกรรมเอกชน เพื่อความรวดเร็ว ปัจจุบันจะมีส่วนน้อยที่ไปรักษากับหมอพื้นบ้านด้วยสมุนไพร เพราะคนรุ่นหลังส่วนใหญ่กลัวว่าจะมีการติดเชื้อที่แผลได้ ซึ่งการเข้าถึงสถานพยาบาลของชุมชนส่วนใหญ่จะใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อย
ที่มา : นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีี พะเยา
ประเพณีและพิธีกรรมของชุมชน
ตานข้าวใหม่ (เดือน 4) ประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยจะทำในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว โดยการตานข้าวใหม่นี้จะนำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งนี้มารับประทาน ก่อนที่จะนำมารับประทานต่อไป จะต้องนำข้าวใหม่ที่หนึ่งแล้วมาประกอบเป็นอาหาร ขนม (แล้วแต่ละครัวเรือน)ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า (เดือน 4) ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าคือการนำเอาฟืนมาเผา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ชาวล้านนามีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นเช่นเดียวกับคนเรา จึงร่วมกันหาไม้ฟืนมาจุดเผาไฟผิงให้เกิด
ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน (เดือน 5 แรม 13 ค่ำ และเดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่เดิมซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพ นับถือและเชื่อว่าการบูชาและให้ความเคารพจะทำให้หมู่บ้านปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง และบางกรณี เช่น การสอบเข้าทำงาน การสอบเข้าเรียนต่อ หรือการทำธุรกิจต่างๆ ชาวบ้านก็จะมีการบนบาลหอเจ้าบ้าน เพื่อให้กระทำต่างๆ สำเร็จด้วยดี
ปี๋ใหม่เมือง
รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (เดือน 7)
ประเพณีที่สืบทอดกันมา
การรดน้ำดำหัวจำทำในวันสงกรานต์ โดยลูกหลานจะกลับมารดน้ำดำหัวพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา
ยาย หรือผู้ที่เคารพนับถือ และจะมีคำอวยพรจากบุคคลที่เราไปรดน้ำดำหัว ในวันนี้เป็นวันที่รวมญาติ
พี่ น้อง คนในครอบครัว เป็นประเพณีการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ของชาวล้านนา
จะแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ
และความมุ่งหมาย ดังนั้นปีใหม่เมืองของชาวล้านนา
จึงมีวันและการปฏิบัติตนตามระบบโหราศาสตร์ ปักกะทืนล้านนา
ประกาศออกมาเป็นหนังสือปีใหม่เมือง
มีวันและกิจกรรมมากกว่าสงกรานต์ของคนภาคกลางได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเน่า
วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม
สลากภัตรและทอดกฐิน (เดือนเกี๋ยง) สลากภัตรหรือตานก๋วยสลากของชาวล้านนา เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่แสดงออกถึงความสามัคคีกันในการมาพร้อมหน้าในบรรดาหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อการทำบุญถึงญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้ ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานในดินแดนล้านนา เริ่มราววันเพ็ญเดือน ๑๒ เหนือ หรือประมาณเดือนกันยายน และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี
ประเพณียี่เป็ง ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่เป็ง คำว่า "ยี่" ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือน ๒ ส่วนคำว่า "เป็ง"หมายถึง คืนที่พระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของคนภาคกลาง การนับเดือนของทางล้านนาจะเร็วกว่าภาคกลางไป ๒ เดือน อันเนื่องมาจากการนับเดือนของคนล้านนา นับเดือนทางจันทรคติ ประเพณียี่เป็ง ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดูปลายฝนต้นฤดูหนาว น้ำเหนือเริ่มเหือดแห้ง เมฆฝนเริ่มจากไป เป็นเทศกาลแห่งลมเหนือเมื่อหนาว ท้องทุ่งข้าวออกรวงเหลืองอร่าม
ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าชุมชน
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ (เดือน 9 แรม 13 ค่ำ) ประเพณีการเลี้ยงผีขุนน้ำบ้านต๊ำใน เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่าในป่ามีผีที่ดูแลรักษาป่า ชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าจากน้ำ จึงได้มีการแสดงความเคารพต่อผีเหล่านั้นโดยการเซ่นไหว้บูชาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าและเป็นการสืบทอดประเพณีพิธีกรรมไม่ให้สูญหายไปโดยผีที่ชาวบ้านทำวิธีเลี้ยงมี 4 ตน คือเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ผีเจ้าป่า ผีขุนต๊ำ ผีปกกะโล่ง ซึ่งเป็นทั้งผีเจ้าพ่อและผีป่า การเตรียมงานสมัยก่อนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเครื่องเซ่นไปร่วมงานกัน ตอนเช้าผู้ใหญ่บ้านจะเคาะกระบอกไม้ไผ่ให้ชาวบ้านไปรวมกันในป่าบริเวณป่าน้ำจำปัจจุบันแกนนำจะเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนโดยจะมีการเก็บเงินชาวบ้านทุกครัวเรือน
(ที่มา:บันทึกของนายศรีจันทร์ ท้าวล่า ปี พ.ศ. 2540)
ประเพณีฟังธรรมขอฝน (เดือน 10 แรม 8 ค่ำ) การฟังธรรมขอฝน ประเพณีการฟังธรรมขอฝนเป็นประเพณีของชาวบ้านต๊ำในที่เป็นความเชื่อสืบทอดกันมาแต่ช้านานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลมีน้ำสำหรับทำการเกษตรและได้ผลผลิตดี การฟังธรรมขอฝนจะทำในเดือน 10 แรม 8 ค่ำ(เดือนกรกฎาคม)โดยพ่ออาจารย์ กล่าวนำชาวบ้านถวายทานและเจ้าอาวาสวัดต๊ำในเทศนาธรรมพญาคางคกซึ่งคางคกที่คนดั้งเดิมยุคก่อนประวัติศาสตร์เคารพว่าเป็น สัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและฝนเพราะมักปรากฏตัวและส่งเสียงดังการเทศน์ธรรมพญาคางคกในการฟังธรรมขอฝนของบ้านต่ำในจะมีการทำจำนวน 18 ผูก เทศน์เป็นภาษาคำเมืองซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอฝนจากพญาคางคกเพื่อขอน้ำไปปลูกข้าวเสร็จแล้วพระสงฆ์ให้พรแก่ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมพิธี
Check in BantumNai Bantum Phayao Thailand
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คณะนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 25
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา