การบริหารยาฉีดแก่ผู้ป่วย
การฉีดยาโดยทั่วไปในการรักษาพยาบาล มี 4 วิธี1. การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection)
2. การฉีดยาเข้าหลอดใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection)
3. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous injection)
4. การฉีดยาเข้าผิวหนัง (intradermal injection)
ก่อนที่จะทำการฉีดยา จะต้องเตรียมยาให้พร้อม เตรียมผู้ป่วย และอุปกรณ์ให้พร้อม รวมถึงระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยจากการฉีดยา
การฉีดยา
เป็นการฉีดสารที่เป็นของเหลวเข้าไปในเนื้อเยื่อ หลอดเลือด หรือช่องในร่างกาย การฉีดยาเป็นการให้ยาที่ได้ผลเร็ว แต่มีวิธีการที่ยุ่งยาก สิ้นเปลือง เสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้นการให้ยาวิธีนี้จึงกระทำเมื่อจำเป็น และเมื่อไม่สามารถให้โดยวิธีอื่นได้วัตถุประสงค์
1. เพื่อการรักษา2. เพื่อให้ภูมิคุ้มกันโรค
3. เพื่อทดสอบการแพ้ยาและสารบางชนิด
4. เพื่อวินิจฉัย
อันตรายจากการฉีดยา
1. การให้ยาผิด (ผิดชนิด ผิดขนาด ผิดตัวผู้ป่วย ผิดวิถีทาง ผิดเวลา)
2. การทำลายเส้นประสาท
3. การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ
4. การติดเชื้อ
5. การแพ้ยา
6. การไม่เข้ากันของยา
7. ความกลัวและความเจ็บปวด
นอกจากจะต้องระวังอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ป่วยแล้ว ผู้ฉีดยาเองต้องระวังอันตรายที่อาจจะเกิดกับผู้ฉีดด้วยคือ
1. ระวังมิให้ยาฉีดถูกต้องผิวหนัง
2. ระวังหลอดยาบาดมือ
3. ระวังเข็มฉีดยาทิ่มแทงผิวหนัง
4. ถ้ามีบาดแผลควรสวมถุงมือ ขณะฉีดยาเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเลือด
การฉีดยาเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่คือ
I. การจัดเตรียมยา
II. การฉีดยา
การจัดเตรียมยา
วัตถุประสงค์1. เพื่อให้ยาอยู่ในสภาพที่พร้อมและเหมาะสมสำหรับนำไปฉีดได้
2. เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยาฉีดที่ถูกชนิดและขนาด
3. เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยาฉีดที่สะอาดปราศจากเชื้อ
อุปกรณ์
1. ยาที่ต้องการฉีด
2. กระบอกฉีดยาขนาดต่าง ๆ
3. เข็มฉีดยาขนาดต่าง ๆ (ดังตารางที่ 1)
4. อับใส่สำลีชุบ antiseptic solution เช่น 70% alcohol
5. Transfer forceps
6. ใบเลื่อยหลอดยา
7. ชามถุงไต 1-2 ใบ สำหรับเครื่องมือที่จะทิ้ง 1 ใบ และสำหรับใส่เครื่องมือที่จะนำไปใช้อีก 1 ใบ
8. ถาดสำหรับวางกระบอกฉีดยาที่บรรจุยาฉีดแล้ว
9. ถ้าเป็นยาฉีดชนิดผง ต้องเตรียมตัวทำละลายเพิ่มอีก เช่น น้ำกลั่น, น้ำเกลือ (Physiological saline solution)
ขนาดและความยาวของเข็มฉีดยาตามวัตถุประสงค์การใช้
ยาสำหรับฉีดจะบรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุที่เป็นหลอด (ampule) และขวด (vial) ยาที่บรรจุในหลอดจะเป็นยาน้ำซึงใช้ฉีดครั้งเดียว (single dose) ถ้าใช้ไม่หมดต้องทิ้งไป เพราะเมื่อหลอดยาถูกหักแล้วจะไม่สามารถรักษาให้อยู่ในสภาพปราศจากเชื้อได้ หลอดยาที่มีวงสีรอบคอหลอดยา แสดงว่าหลอดยานั้นจะหักได้ง่ายไม่ต้องใช้เลื่อย
ยาที่บรรจุในขวดจะมีทั้งชนิดที่เป็นผงและยาน้ำ มีทั้งแบบ single dose และ multidose ยาที่เป็นผงจะมีความคงตัวต่ำ จุกขวดจะเป็นยางและมีแผ่นโลหะยึดรอบริมของขอบจุกยางไว้กันปากขวดส่วนกลางของจุกยางจะบางเพื่อให้ง่ายต่อการแทงเข็มตรงส่วนกลางของจุกยางจะมีแผ่นโลหะหรือฝาพลาสติกปิดไว้อีกครั้งหนึ่งก่อนดูดยาออกจากขวดต้องเปิดแผ่นโลหะหรือฝาพลาสติกออก
บนหลอดยาหรือขวดยาจะมีชื่อยา ปริมาณยา วิถีทางให้ยา วันหมดอายุของยาอยู่ ยาฉีดบางชนิดที่เป็นผง จะบอกชื่อ และปริมาณของตัวทำละลายยาไว้ด้วย
กระบอกฉีดยา (Syringe)
มีหลายขนาดตั้งแต่ 0.5-5.0 cc. ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ กระบอก (barrel) ซึ่งมีปลาย (tip) ที่มีขนาดสวมได้พอดีกับหัวเข็มฉีดยา ส่วนที่สองคือ ลูกสูบ (plunger) กระบอกฉีดยาจะมีทั้งชนิดทำด้วยแก้วซึ่งสามารถนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ และนำกลับมาใช้ได้อีก ส่วนอีกชนิดหนึ่งทำด้วยพลาสติกซึ่งใช้แล้วทิ้ง
กระบอกฉีดยาที่ทำด้วยแก้วเมื่อล้างสะอาดแล้วและทำให้แห้งจะห่อด้วยผ้า 2 ชั้น แยกลูกสูบและกระบอกออกจากกัน ห่อส่วนที่เป็นกระบอกไว้นอกสุด เพราะเป็นส่วนที่จับต้องได้ ในการเปิดห่อกระบอกฉีดยาต้องระวังไม่ให้ปนเปื้อน และให้รักษาด้านในผ้าขาวเพื่อใช้ปูรองกระบอกฉีดยาที่จัดเตรียมยาเสร็จแล้ว
เข็มฉีดยา
เข็มฉีดยาส่วนมากทำจาก stainless steel และเป็นชนิดใช้ครั้งเดียว (disposable) เข็มฉีดยา ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวเข็ม (hub) ซึ่งมีขนาดพอดีกับปลายกระบอกฉีดยา, ตัวเข็ม (shaft) เป็นส่วนที่ต่อจากหัวเข็ม และส่วนสุดท้ายคือปลายเข็ม (bevel or slanted tip)
ส่วนบริเวณหัวเข็มสามารถจับต้องได้ขณะทำให้หัวเข็มและปลายหลอดฉีดยายึดติดกัน แต่ส่วนของตัวเข็มและปลายเข็มจับต้องไม่ได้ต้องรักษาสภาวะปราศจากเชื้อไว้ ดังนั้นส่วนปลายเข็มและตัวเข็มจะมีปลอกพลาสติกครอบไว้ และเข็มที่มีปลอกพลาสติกครอบไว้จะบรรจุอยู่ในซองอีกครั้งหนึ่งเพื่อรักษาสภาวะปราศจากเชื้อไว้
เข็มฉีดยาจะมีขนาดและความยาวเพื่อให้เลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ ดังตารางข้างต้น
ขั้นเตรียมการ
1. ซักถามประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย
2. อ่านและตรวจสอบรายละเอียดบนขวดยาหรือหลอดยาเกี่ยวกับชื่อยา, วิถีทางการให้ยา, วันหมดอายุของยา (Exp.date)
3. ศึกษาเกี่ยวกับขนาด ฤทธิ์ข้างเคียง วิธีละลายยาในกรณีเป็นยาผง
4. คำนวณปริมาณยาฉีดที่ผู้ป่วยควรได้รับอย่างถูกต้อง
5. ดูแลบริเวณสำหรับเตรียมยาให้สะอาด แห้ง มีแสงสว่างเพียงพอ
6. ตรวจดูความพร้อมของเครื่องมือเครื่องใช้
7. ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือ
วิธีเตรียมยาฉีดจากยาน้ำบรรจุหลอด (Ampule)
1. ทำความสะอาดรอบคอหลอดยา และใบเลื่อยด้วยสำลีชุบอัลกอฮอล์ 70%
2. เลื่อยรอบคอหลอดยาพอเป็นรอย โดยคลี่สำลีชุบอัลกอฮอล์รองหลังคอหลอดยา ถ้ามียาค้างอยู่เหนือคอหลอดยาต้องไล่ยาลงไปอยู่ส่วนใต้คอหลอดยา ถ้าหลอดยามีแถบสีที่คอหลอดยาไม่จำเป็นต้องเลื่อยคอหลอดยา
3. เช็ดรอบคอหลอดยาด้วยสำลีชุบอัลกอฮอล์
4. คลี่สำลีชุบอัลกอฮอล์ หรือก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้วหุ้มรอบบริเวณคอหลอดยาเพื่อป้องกันหลอดยาที่หักปลายแล้วบาดนิ้วมือ แล้วทำการหักหลอดยา วางหลอดยาที่หักปลายแล้วในบริเวณที่ไม่ถูกปนเปื้อน
5. แก้ห่อกระบอกฉีดยาโดยระวังมิให้เกิดการปนเปื้อน
6. สวมหัวเข็มสำหรับดูดยาเข้ากับปลายกระบอกฉีดยา บิดหัวเข็มให้แน่นพอประมาณ
7. ถอดปลอกเข็มออก จับหลอดยาด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ถือกระบอกฉีดยาด้วยมือข้างที่ถนัด สอดเข็มเข้าหลอดยา ระวังมิให้เข็มสัมผัสกับด้านนอกและปากหลอดยา
8. เอียงหลอดยาให้ปลายตัดเข็มจุ่มในน้ำยา ดูดยาตามจำนวนที่ต้องการ
9. ตรวจสอบชื่อยาบนหลอดยาอีกครั้งหนึ่งก่อนทิ้งหลอดยา
10. เปลี่ยนเข็มใหม่ เลือกขนาด และความยาวที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยานั้น ๆ
11. ถ้าเตรียมยาสำหรับฉีดผู้ป่วยหลายคนหรือหลายชนิดพร้อมกัน ควรวางกระบอกฉีดยาที่เตรียมยาแล้วบนถาดที่มีผ้าสะอาดปูรอง และมีการ์ดยาแนบกระบอกฉีดยาไว้เพื่อป้องกันการนำยาผิดชนิดไปฉีดให้ผู้ป่วย
วิธีเตรียมยาฉีดจากยาน้ำบรรจุขวด (Vial)
1. เขย่าขวดยาเบา ๆ ให้ยาเข้ากัน
2. ทำความสะอาดจุกขวดยาด้วยสำลีชุบอัลกอฮอล์ 70% โดยวิธีหมุนจากจุดที่แทงเข็มวนออกด้านนอกจนถึงคอขวดยา (ถ้ามีแผ่นโลหะปิดอยู่บนจุกยางให้ดึงออกแล้วทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง) ปล่อยให้อัลกอฮอล์แห้ง
3. แก้ห่อกระบอกฉีดยาโดยระวังมิให้เกิดการปนเปื้อน
4. สวมหัวเข็มสำหรับดูดยาเข้ากับปลายกระบอกฉีดยา บิดหัวเข็มให้แน่นพอประมาณ
5. ถอดปลอกเข็มออก ดูดอากาศเข้ากระบอกฉีดยาเท่าปริมาณยาที่ต้องการ
6. แทงเข็มเข้าจุกยางใช้นิ้วหัวแม่มือดันลูกสูบให้อากาศเข้าขวดยาจนหมด
7. คว่ำขวดยาลง โดยให้นิ้วดันลูกสูบอยู่ ปรับให้ปลายตัดเข็มอยู่ในน้ำยา
8. ค่อย ๆ ปล่อยนิ้วที่ดันลูกสูบออก น้ำยาจากขวดจะไหลเข้ามาในกระบอกฉีดยา เมื่อได้ยาครบตามปริมาณที่ต้องการ ถอนเข็มและกระบอกฉีดยาออกจากจุกขวดยา
9. ตรวจสอบชื่อยาบนขวดยาอีกครั้งหนึ่ง
10. เปลี่ยนเข็มใหม่ เลือกขนาด และความยาวที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยานั้น ๆ
11. หากเตรียมยาสำหรับฉีดผู้ป่วยหลายคน หรือหลายชนิดพร้อมกัน ควรวางกระบอกฉีดยา (ที่เตรียมยาแล้ว) บนถาดที่มีผ้าสะอาดปูรอง และแนบการ์ดยาไว้เพื่อป้องกันการนำยาผิดชนิดไปฉีดให้ผู้ป่วย
วิธีเตรียมยาฉีดจากยาผงบรรจุขวด (วิธีละลายยา)
1. ตรวจดูตัวทำละลาย (น้ำกลั่นหรือน้ำเกลือ) ว่ามีฝุ่นผงหรือไม่ โดยคว่ำขวดยกส่องดู หากมีฝุ่นผง ไม่ควรนำมาใช้
2. ทำความสะอาดจุกขวดตัวทำละลาย และจุกขวดด้วยสำลีชุบอัลกอฮอล์ 70% จนถึงคอขวด ปล่อยให้อัลกอฮอล์แห้ง
3. ดูดตัวทำละลายตามปริมาณที่ต้องการ ด้วยวิธีเดียวกับการเตรียมยาฉีดจากยาน้ำบรรจุขวด เมื่อได้ตัวทำละลายแล้วให้ฉีดตัวทำละลายเข้าในขวดยาผง โดยแทงเข็มเข้าจุกขวดยาแล้วดันลูกสูบ ให้ตัวทำละลายเข้าไปในขวดยางจนหมด หลังจากนั้นปล่อยนิ้วที่ดันลูกสูบออก อากาศที่ถูกแทนที่ด้วยตัวทำละลายจะเข้ามาในกระบอกฉีดยาจนหมด ความดันในขวดยาจะเท่ากับความดันในบรรยากาศ
4. ถอนเข็ม และกระบอกฉีดยาออกจากขวดยา นำปลอกเข็มที่ถอดออกมาสวมครอบเข็มไว้
5. เขย่าขวด ให้ตัวทำละลาย ละลายผงจนหมดเป็นเนื้อเดียวกัน
6. ทำความสะอาดจุกขวดยาอีกครั้งด้วยสำลีชุบอัลกอฮอล์ ปล่อยให้อัลกอฮอล์แห้ง
7. ใช้กระบอกฉีดยาพร้อมเข็มชุดเดิม ดูดยาออกจากขวดตามปริมาณที่ต้องการด้วยวิธีเดียวกับการเตรียมยาฉีดจากยาน้ำบรรจุขวด
8. หากยาที่ละลายแล้วใช้ไม่หมด และมีอายุที่จะเก็บไว้ใช้ได้ให้เขียนฉลากติดขวดไว้เกี่ยวกับความเข้มข้นของยา วัน เดือน ปีที่ละลาย ผู้ละลาย และเก็บยาไว้ในที่ที่เหมาะสมตามสลากยาที่แนบมากับยา
วิธีฉีดยา
วัตถุประสงค์1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้อง (ถูกชนิด ถูกวิถีทาง ถูกขนาด)
2. เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอันเนื่องจากการฉีดยา
อุปกรณ์
1. ยาที่เตรียมไว้
2. อับสำลีชุบอัลกอฮอล์ 70%
3. Transfer forceps
4. ชามรูปไต 2 ใบ
5. สายรัดห้ามเลือด (tourniquet) สำหรับเวลาฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ
หมายเหตุ : เครื่องใช้ดังกล่าวอาจจัดใส่ถาดปูผ้าสะอาด หรือโต๊ะเล็กเลื่อนได้
ขั้นเตรียมการ
1. ตรวจความพร้อมของเครื่องใช้
2. ถามชื่อ – สกุลของผู้ป่วย รวมถึงประวัติการแพ้ยา
3. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ
4. เลือกบริเวณสำหรับฉีดยา ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาในบริเวณที่มีการอักเสบ ช้ำบวม เป็นแผล มีก้อนแข็ง หรือเป็นอัมพาต
5. จัดท่าและเสื้อผ้าผู้ป่วย เปิดบริเวณที่จะฉีดยาให้กว้างพอ หากเป็นบริเวณที่ไม่ควรเปิดเผยควรปิดประตูหรือกั้นม่าน
6. ล้างมือให้สะอาด ใส่ถุงมือ