ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
(Gastroesophageal Reflux Disease)
โรคกรดไหลย้อน หมายถึง โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิด อาการนอกหลอดอาหาร [atypical or extraesophageal GERD]


ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

  1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือ CLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น
  2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux : LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด
ภาวะของโรคกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
  • ระดับแรก ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนบ้างในบางครั้ง เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แล้วก็หายไป ไม่มีผลต่อสุขภาพมากมาย (Gastro-Esophageal Reflux : GER)
  • ระดับสอง ผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาเฉพาะที่บริเวณหลอดอาหาร (Gastro-Esophageal Reflux Disease : GERD)
  • ระดับสาม ผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนไหลขึ้นไปถึงกล่องเสียง หรือหลอดลม (Laryngo-Pharyngeal Reflux : LPR)

สาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน

โดยปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปที่หลอดอาหารคอและกล่องเสียง เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารเองก็มีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด การที่เกิดโรคกรดไหลย้อนขึ้นมายัง หลอดอาหาร คอและกล่องเสียงนั้นเชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง และ / หรือ กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหาร คอและกล่องเสียงได้ง่าย โดยปกติถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียงนั้น เชื่อว่ามีการทำงานของระบบป้องกันดังกล่าวเสียไป จึงมีกรดไหลย้อนขึ้นไปใน หลอดอาหาร คอหอย และกล่องเสียงได้

สำหรับ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง พยาธิสภาพที่เกิดที่คอ และ/หรือ สายเสียงสามารถเกิดได้จากกรดแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยที่ขึ้นมา และมักเกิดในขณะเดิน, นั่ง หรือยืน ในเวลากลางวัน ซึ่งต่างจากโรคกรดไหลย้อนธรรมดา (CLASSIC GERD) ซึ่งมักเกิดขณะนอน และเกิดในเวลากลางคืน เนื่องจากกรดที่ขึ้นมาทำให้เกิดพยาธิสภาพของคอ และสายเสียงมักมีปริมาณน้อย และไม่ได้อยู่ในหลอดอาหารนาน จึงพบอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก หรือลิ้นปี่ (Heartburn) หลอดอาหารอักเสบหรือมีแผล (Esophagitis) หรืออาการเรอ หรือขย้อนได้น้อย เมื่อเทียบกับโรคกรดไหลย้อนธรรมดา

สาเหตุที่เป็นไปได้ ที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ

1.  เนื่องจากคนไทยรับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น และการดำเนินชีวิตของแต่ละคนเปลี่ยนไปเหมือนกับคนตะวันตกมากขึ้น อันได้แก่
  • ทำงานเลิกดึก รับประทานอาหารดึก พอรับประทานแล้วเข้านอนทันที ทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น การไหลย้อนของกรดเกิดง่ายขึ้น 
  • เครียดกับงานมากขึ้น เมื่อเครียด กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือหลอดอาหารทำงานน้อยลง และมีการหลั่งกรดมากขึ้น โอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น 
  • ชนิดของอาหาร ในปัจจุบันนิยมรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดเช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด หรือพิซซ่า หรืออาหารที่ปรุงด้วยการผัด และการทอดกันมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มัน และย่อยยาก ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารช้าลง ใช้เวลานานในการย่อย ท้องอืดง่าย ทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น และนิยมดื่ม ชา และกาแฟ กันมากขึ้น ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน มีโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อนง่ายขึ้น 
  • ปัจจุบัน คนมักมีน้ำหนักตัวเกินค่าปกติกันมากขึ้น (การที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น) และขาดการออกกำลังกาย (การออกกำลังกาย จะทำให้กระเพาะ และลำไส้ เคลื่อนตัวได้ดี) ทำให้มีโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น 

2.  มีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งคือ Helicobacter pylori หรือ H. pylori ปัจจุบันเชื้อตัวนี้มีบทบาทเกี่ยวกับแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น เชื้อ H. pylori มีความสัมพันธ์ กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้มีอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของกระเพาะอาหารมากขึ้น เชื้อนี้มีข้อดีคือช่วยปกป้องภาวะกรดไหลย้อน แต่ในปัจจุบันมีการสั่งยาที่ทำลายเชื้อตัวนี้กันมากขึ้น ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อเชื้อตัวนี้ถูกทำลายไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกรดไหลย้อนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ปัจจัยเสริมอื่น ๆ 
  • กินเสร็จอิ่มๆ หรือกินอาหารเสร็จยังไม่ถึง 4 ชั่วโมงแล้วนอน
  • Hiatus hernia คือ โรคที่เกิดจาก กระเพาะอาหารส่วนต้น ยื่นเข้าไปกะบังลม
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์, น้ำอัดลม
  • รับประทานอาหารประเภท ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด

อาการของโรค



อาการในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการ
  • เสียงแหบกว่าปกติโดยไม่ได้เป็นโรคอื่นใดที่เกี่ยวกับกล่องเสียง
  • ปวดแสบปวดร้อนในหน้าอก หรือที่เรียกว่า Heart Burn  เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ
  • มีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก เหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ หายใจไม่ออกเวลานอน
  • กลืนอาหารลำบาก ถ้าเป็นมากจะเจ็บคอมากจนอาจจะกลืนอาหารแทบจะไม่ได้
  • คลื่นไส้
  • มีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในปากหรือลำคอ
อาการนอกหลอดอาหาร
  • ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง
  • เสียงแหบ โดยเฉพาะในตอนเช้า เนื่องจากเวลานอน กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้มาก
  • เป็นโรคปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

1.   การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน (lifestyle modification) การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียงมากขึ้น เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด (ยกเว้นจะผ่าตัดแก้ไข) การรักษาวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้

นิสัยส่วนตัว
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น 
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือควันบุหรี่ เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น
  • ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษา และหลีกเลี่ยงการเบ่ง (เพราะการเบ่ง เวลาถ่าย ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น) การรับประทานยาถ่าย เป็นการแก้อาการท้องผูกที่ปลายเหตุ ควรแก้ที่ต้นเหตุโดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น (ดื่มน้อยๆแต่บ่อยๆ) รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้น ออกกำลังกายแบบแอโรบิกสม่ำเสมอ [คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้เช่น ใน FITNESS) เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล]
  • ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้กระเพาะ และลำไส้ เคลื่อนตัวได้ดี และลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง 
นิสัยในการรับประทานอาหาร
  • หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ การออกกำลัง การยกของหนัก การเอี้ยวหรือก้มตัว 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
  • พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือ ทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ฟาสท์ฟูด เช่น พิซซา ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม peppermints เนย ไข่ (รับประทานได้เฉพาะไข่ขาว) นม (รับประทานได้เฉพาะนมขาดมันเนย หรือไร้ไขมัน คือ ไขมัน = 0 %) น้ำเต้าหู้ (ทำจากถั่ว จะทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก) หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
  • รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่ม แน่นท้องหรือมากเกินไป ควรรับประทานอาหารในปริมาณทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้ว่าเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็ไม่ควรดื่ม) ชา (กาแฟ หรือชาทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน) น้ำอัดลม (ทำให้เกิดแก๊สในช่องท้องมาก) เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น 
นิสัยในการนอน
  • ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
  • เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ โดยเริ่มประมาณ 1/2 - 1 นิ้วจากพื้นราบก่อนแล้วจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเท่าที่ทนได้ เวลานอน ไม่ไหลลงมาที่ปลายเตียง อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ถ้านอนพื้น หรือไม่สามารถยกเตียงได้ ให้หาแผ่นไม้ขนาดเท่าฟูก รองใต้ฟูก แล้วใช้ ไม้ หรืออิฐ ยกแผ่นไม้ดังกล่าวขึ้น

2.   รับประทานยา 
           ยาที่ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถแบ่งตามกลุ่มการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

  • ยาลดกรด (Antacid) ลดความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อย หรือเป็นเพียงครั้งคราว เช่น Aluminium hydroxide , magnesium hydroxide เป็นต้น
  • ยากลุ่มกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Prokinetics) เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารทำให้อาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้น เช่น Metoclopamide , Domperidone เป็นต้น
  • ยากลุ่ม H2 Receptor Antagonists ออกฤทธิ์ยับยั้งฮีสตามีน (Histamine)ไม่ให้จับตัวกับตัวรับในกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดลดลง เช่น Cimetidine,Famotidine,Ranitidine เป็นต้น
  • ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton Pump Inhibitors:PPI) ยับยั้งโปรตอนปั๊มที่อยู่ในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกลไกขั้นสุดท้ายในการหลั่งกรด จึงสามารถลดการหลั่งกรดได้สมบูรณ์ เช่น Omperazole,Esomeprazole,Pantoprazole เป็นต้น   
       
           ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง ต้องใช้ขนาดยา PPI ในการรักษามากกว่าโรคกรดไหลย้อนธรรมดา และต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าด้วย ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อปรับขนาดยา ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือน กว่าที่อาการต่างๆ จะดีขึ้น ดังนั้นอาการต่างๆ อาจไม่ดีขึ้นเร็วนัก ต้องใช้เวลาในการหาย ซึ่งจะดีขึ้น เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่า จะลดเหตุ (ข้อ 1) ได้มากน้อยเพียงใด เมื่ออาการต่างๆ ดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวันในข้อ 1 ได้ และได้รับประทานยาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2-3 เดือนแล้ว แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงทีละน้อย จนกระทั่งหยุดยาได้ โรคนี้ถึงแม้ว่าแพทย์จะให้หยุดยาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้หายขาด ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมามีอาการใหม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตนตามข้อ 1 ซึ่งเมื่อมีอาการกลับมาใหม่ ให้รับประทานยาที่แพทย์ให้ไว้รับประทานเวลามีอาการ ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีอาการดีขึ้น หรืออาการน้อยลง สามารถจะหยุดยาดังกล่าวได้ การรักษาด้วยยามีเป้าหมายต่างกันไปตามชนิดของยาและอาการของคุณ       
           ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิด ถ้าเป็นไปได้ เช่น progesterone, theophylline, anticholinergics, beta-blockers, alpha-blockers, nitrates, calcium channel blockers, aspirin, NSAID, vitamin C, benzodiazepines พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา

3. การผ่าตัด 
           เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำใน
3.1) ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น
3.2) ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้
3.3) ผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา แต่ไม่ต้องการที่จะรับประทานยาต่อ
3.4) ผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำบ่อยหลังหยุดยา

ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น endoscopic fundoplication, radiofrequency therapy, injection / implantation therapy
เรียบเรียงโดย The Nok
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
http://en.wikipedia.org/wiki/Gastroesophageal_reflux_disease
http://www.rcot.org/data_detail.php?op=knowledge&id=14
http://www.kwamru.com/123