ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
               โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ใน ทวีปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี ในกรณีที่มีอาการมาก ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นนาน 3 ถึง 5 วัน และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายดีแล้วยังอาจมีอาการไอ และเพลียเรื้อรังนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ไข้หวัดใหญ่อาจมีความรุนแรงและทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้ผู้ป่วยจำนวน เป็นร้อยถึงเป็นพันคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละปี ในปีที่มีการระบาด เฉพาะในอเมริกา อาจมีผู้ป่วยเสียชีวิต สูงถึง 40,000 คน ในช่วงหน้าหนาวของแต่ละปีในสหราชอาณาจักร อาจมีผู้เสียชีวิต 3,000 ถึง 4,000 คน การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงที่สุดเรียกว่า หวัดสเปน (Spanish Flu)ระบาดทั่วโลก ในปี คศ. 1918 ถึง 1920 มีผู้เสียชีวิตถึง 20 ล้านคน


ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ หอบหืด และ เอดส์ จะมีอาการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าคนปกติทั่วไปและมีโอกาสที่จะติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจสูงกว่าคนปกติ

ไข้หวัดใหญ่ ( Influenza หรือ flu) เป็นโรคติดต่อของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เกิดจากอาร์เอ็นไอไวรัสในสกุล Orthomyxoviridae (ไวรัสไข้หวัดใหญ่) อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการหนาวสะท้าน ไข้ คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ (มักรุนแรง) ไอ ล้าและรู้สึกไม่สบาย ไข้หวัดใหญ่มักสับสนกับการเจ็บป่วยอื่นที่คล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหวัด แต่ไข้หวัดใหญ่จะเป็นโรคที่รุนแรงกว่า อันเกิดจากไวรัสต่างชนิดกัน ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก แต่อาการเหล่านี้พบบ่อยกว่าในผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบซึ่งไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ บางครั้งจึงเรียกผิด ๆ ว่าเป็น "หวัดลงกระเพาะ" (stomach flu) หรือ "หวัด 24 ชั่วโมง (24-hour flu)

บางครั้งไข้หวัดใหญ่นำไปสู่ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นปอดบวมที่เกิดจากไวรัสโดยตรงหรือปอดบวมที่เกิดจากแบคทีเรียก็ได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสุขภาพดีเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปอดบวมเป็นสัญญาณเตือนหากเด็ก (หรืออาจเป็นผู้ใหญ่) เหมือนจะมีอาการดีขึ้นแล้วเป็นโรคกลับโดยมีไข้สูง ซึ่งการเป็นโรคกลับนี้อาจเป็นปอดบวมจากแบคทีเรีย สัญญาณเตือนอีกอย่างหนึ่ง คือ บุคคลเริ่มหายใจลำบาก

โดยทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ติดต่อผ่านอากาศโดยการไอหรือจาม ซึ่งปลดปล่อยละอองลอยที่มีไวรัส ไข้หวัดใหญ่ยังสามารถส่งผ่านโดยการสัมผัสโดยตรงกับมูลหรือสารคัดหลั่งจากจมูกของนก หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน คาดกันว่าละอองลอยที่มาทางอากาศก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด แต่ยังไม่ทราบช่องทางการส่งผ่านที่สำคัญที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถลดฤทธิ์ด้วยแสงแดด สารฆ่าเชื้อและสารชะล้างได้ การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะสบู่สามารถลดฤทธิ์ไวรัส

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โรคนี้มีการระบาดในประเทศต่างๆในซีกโลกเหนือในช่วงฤดูหนาวของทุกปี(เดือนตุลาคม ถึง เมษายน) ส่วนประเทศในซีกโลกใต้มีการระบาดในช่วงกลางปีของทุกปี (เดือนเมษายน ถึง กันยายน) โดยจะมีการระบาดนาน 6 ถึง 8 สัปดาห์

               เชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสมีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ หรือจาม หรือการสัมผัสถูกมือของเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค ระยะฟักตัว 1-4 วัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด เรียกว่า ชนิด เอ,บี และซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธ์ย่อยๆ ไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยๆ เพียงพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อพันธุ์นั้น เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคที่ระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด
เชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอจามรดกัน หรือติดต่อโดยมือสัมผัสกับน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วยที่อาจติดอยู่กับของใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ราวบันได ลูกบิดประตู แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า เชื้อโรคจะเข้าสู่เยื่อบุจมูกและปากได้

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1 – 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38-40 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่มักมีอาการรุนแรงกว่าและอาจจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

ประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี แต่ในฤดูฝนมักจะมีผู้ป่วยมากกว่าฤดูอื่น ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยปีละประมาณ 30,000 – 50,000 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ปีละน้อยกว่า 10 ราย ในช่วงปีพ.ศ. 2544 - 2546 มีรายงานผู้ป่วยปีละ 20,000 – 42,000 ราย แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย ในปีพ.ศ. 2544 ผู้ป่วยมีทุกกลุ่มอายุแต่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ในประเทศเขตหนาว มักมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้วัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ โดยให้วัคซีนก่อนเข้าฤดูหนาว

เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทีละน้อยในแต่ละปี ดังนั้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะต้องมีการผลิตใหม่สำหรับแต่ละปี โดยปรับให้ตรงกับสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่เป็นส่วนใหญ่

การระบาดของไข้หวัดใหญ่

การระบาดใหญ่เกิดขึ้นจากการอุบัติของไวรัสชนิดใหม่ เรียงลำดับดังนี้

พ.ศ. 2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย (subtype) H1N1 (ในยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ การตรวจชนิดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นภายหลัง) มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spainish flu) เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 50 ล้านคน (มากกว่าผู้คนที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก) เป็นผู้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาถึงกว่า 500,000 คน

พ.ศ. 2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H2N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) เริ่มที่ตะวันออกไกลก่อนระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คนในสหรัฐอเมริกา การระบาดในครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทัน จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก

พ.ศ. 2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H3N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง แล้วจึงแพร่กระจายออกไป มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คนในอเมริกา เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว

พ.ศ. 2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) 
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu) เริ่มระบาดที่ประเทศจีนตอนเหนือแล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่กระจายอยู่ทั่วไปก่อนปี พ.ศ. 2500 คือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1N1) ที่ระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461-2462 (ก่อนถูกแทนที่ด้วยไข้หวัดใหญ่เอเชีย คือชนิดย่อย H2N2 ในปี พ.ศ. 2500) ผู้ที่อายุเกิน 23 ปีในขณะนั้น ส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานโรคแล้วจากการระบาดครั้งก่อน จึงเกิดโรครุนแรงเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 23 ปี ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้เท่านั้น

พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 เป็นไวรัสที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่หมูและไข้หวัดใหญ่มนุษย์ เกิดเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่พันธุ์ผสม กลับมาระบาดอีกครั้ง มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (Mexican flu) หรือชื่อใหม่ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 2009 เริ่มระบาดที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อเดือน มี.ค.แล้วกระจายสู่สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ

อาการ

               มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง อาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะหายลงแล้ว บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการเวียนศีรษะเมารถเมาเรือเนื่องจากการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเอง ใน 3-5 วัน
  • ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1-4วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
  • ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างฉับพลัน
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา
  • ไข้สูง 39-40 ํc
  • เจ็บคอ และ คอแดง มีน้ำมูกใสไหล
  • ไอแห้ง ๆ
  • ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง
  • อาการอาเจียน หรือท้องเดิน ไข้เป็น 2-4 วันแล้วค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
สำหรับรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วย เช่น
  • อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ
  • ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
  • ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวมผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
  • โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวม และโรคหัวใจ หรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

อาการแทรกซ้อน

ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ ภาวะที่สำคัญคือปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดกับจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือสเตฟฟิโลค็อกคัส ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสแทรกซ้อนถึงตายได้นั้นนับว่าน้อยมาก มักจะเกิดขึ้นในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยเรื้อรัง

แต่อาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ปอดบวม ฝีในปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่ในหญิงมีครรภ์ ยังผลต่อมารดามักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก ผลต่อเด็กอาจจะทำให้แท้ง

การติดต่อ

เชื้อนี้จะติดต่อได้ง่าย การติดต่อสามารถติดต่อได้โดย
  1. เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจได้รับน้ำมูก หรือ เสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
  2. การที่คนได้สัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ
  3. การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือ เอาเข้าปาก
ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ, 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลักโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ การวินิจฉัยที่แน่นอนอาจจะทำได้ 2 วิธีคือ
  • นำไม้พันสำลีแหย่ที่คอ หรือจมูก แล้วนำไปเพาะเชื้อ
  • เจาะเลือด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโดยต้องเจาะ 2 ครั้งห่างกัน 2 ชั่วโมงแล้วเปรียบการเพิ่มของภูมิต่อเชื้อ 
  • การตรวจหา Antigen
  • การตรวจโดยวิธี PCR,Imunofluorescent

การรักษา

  1. ให้นอนพักไม่ควรออกกำลังกาย
  2. ให้ดื่มน้ำ หรือ น้ำผลไม้ หรือน้ำซุป หรืออาจจะดื่มน้ำเกลือแร่ ร่วมด้วย แต่ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว เพราะจะทำให้ท่านขาดเกลือแร่ได้ หรืออาจจะเตรียมโดยใช้น้ำข้าวใส่เกลือ และน้ำตาลก็ได้
  3. ให้การดูแลปฏิบัติตัว และรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัด คือ นอนพักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำทำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง กินอาหารอ่อน ดื่มน้ำและน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ให้ยาแก้ปวด Paracetamol ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1-2 เม็ด (500 มิลลิกรัม) วันละ 2-3 ครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน
  4. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จะให้ก็ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น น้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว 
  5. ถ้ามีอาการหอบหรือสงสัยปอดอักเสบ ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

 อาการที่ควรไปพบแพทย์

ในเด็กควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ
  • ไข้สูงและเป็นนาน
  • ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5ํ c
  • หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
  • มีอาการมากกว่า7 วัน
  • ผิวสีม่วง
  • เด็กดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่พอ
  • เด็กซึมลงไม่เล่น
  • เด็กไข้ลดลงแต่หายใจหอบ
สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่
  • ไข้สูง และเป็นมานาน
  • หายใจลำบาก หรือหายใจหอบ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • หน้ามืดเป็นลม
  • สับสน
  • อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรพบแพทย์ทันทีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน หอบหืด มะเร็ง เป็นต้น
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ที่พักในบ้านพักคนชรา
  • ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป
ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/ไข้หวัดใหญ่
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต