ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง
พระราชบัญญัติ
วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
พ.ศ. ๒๕๒๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์” หมายความว่า วิชาชีพเกี่ยวกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์
“การพยาบาล” หมายความว่า การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค .ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล
“การผดุงครรภ์” หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับการดูแล และการช่วยเหลือหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด รวมถึงการตรวจ การทำคลอด การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด รวมทั้งช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์
“การประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่การพยาบาลต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยกระทำการต่อไปนี้
  • (๑) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
  • (๒) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรค การลุกลามของโรค และการฟื้นฟูสภาพ
  • (๓) การกระทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรค
  • (๔) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค
ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาลในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล
“การประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์” หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่การผดุงครรภ์ต่อหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิดและครอบครัว โดยการกระทำต่อไปนี้
  • (๑) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
  • (๒) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันความผิดปกติในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
  • (๓) การตรวจ การทำคลอด และการวางแผนครอบครัว
  • (๔) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค
ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการผดุงครรภ์ในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล
“ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลจากสภาการพยาบาล
“ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล
“ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งสภาการพยาบาลออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาการพยาบาล
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาการพยาบาล
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาการพยาบาล
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาการพยาบาล
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
สภาการพยาบาล
มาตรา ๖ ให้มีสภาการพยาบาล มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้สภาการพยาบาลเป็นนิติบุคคล
มาตรา ๗ สภาการพยาบาลมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  • (๑) ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์
  • (๒) ส่งเสริมการศึกษา การบริการ การวิจัย และความก้าวหน้าในวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๓) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก
  • (๔) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการพยาบาล การผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข
  • (๕) ให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการพยาบาล การผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข
  • (๖) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาล และการผดุงครรภ์ในประเทศไทย
  • (๗) ผดุงความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก
มาตรา ๘ สภาการพยาบาลมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  • (๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๒) สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๓) ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เพื่อเสนอต่อทบวงมหาวิทยาลัย
  • (๔) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรของสถาบันที่จะทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๕) รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของสถาบันการศึกษาที่จะทำการฝึกอบรมวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๖) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการสอนและฝึกอบรมตาม (๔) และ (๕)
  • (๗) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของสถาบันต่าง ๆ
  • (๘) ออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางและหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๙) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล
มาตรา ๙ สภาการพยาบาลอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
  • (๑) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
  • (๒) ค่าจดทะเบียนสมาชิกสามัญ ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
  • (๓) ผลประโยชน์จากกิจกรรมอื่นของสภาการพยาบาล ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗
  • (๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาการพยาบาล
  • (๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินอื่นตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาลและมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒
สมาชิก

มาตรา ๑๑ สภาการพยาบาลประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกสามัญ ได้แก่ผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  • (ก) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
  • (ข) มีความรู้ในวิชาชีพการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ โดยได้รับปริญญาประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา หรือประกาศนียบัตรสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สภาการพยาบาลรับรอง
  • (ค) ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
  • (ง) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
  • (จ) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล
(๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสภาการพยาบาลเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

มาตรา ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้
  • (๑) ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และขอหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง หรือหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยปฏิบัติตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการนั้น
  • (๒) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาลส่งไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และในกรณีที่สมาชิกสามัญร่วมกันตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาล คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า
  • (๓) เลือกตั้ง รับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นกรรมการ
  • (๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๓ สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญสิ้นสุดลง เมื่อ
  • (๑) ตาย
  • (๒) ลาออก
  • (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ (๑)
หมวด ๓
คณะกรรมการ

มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการสภาการพยาบาล ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขห้าคน ผู้แทนกระทรวงกลาโหมสามคน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยสี่คน ผู้แทนกรุเทพมหานครหนึ่งคน ผู้แทนสภากาชาดไทยหนึ่งคน นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมาชิกสามัญสภาการพยาบาลอีกสิบหกคนซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาล เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๑๕ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ ทั้งนี้ จำนวนกรรมการที่ปรึกษาต้องไม่เกินหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการ
ให้กรรมการที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาการพยาบาล อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง และอุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สองตำแหน่งละหนึ่งคน
ให้นายกสภาการพยาบาลเลือกสมาชิกสามัญผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘ เพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการหนึ่งคน และเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์และเหรัญญิกตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ให้กรรมการผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง ให้นายกสภาการพยาบาลมีอำนาจถอดถอนเลขาธิการก่อนครบวาระตามวรรคสามได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรานี้แต่ละตำแหน่ง อาจพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวก่อนครบวาระได้โดยอนุมัติของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๗ การเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๔ การแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๕ และการเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา ๑๖ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล
มาตรา ๑๘ กรรมการนอกจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการที่ปรึกษาต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  • (๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
  • (๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
  • (๓) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๑๙ ให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและรับเลือกตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งหรือรับเลือกตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองคราวติดต่อกันไม่ได้
มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งและรับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
  • (๑) สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๓
  • (๒) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘
  • (๓) ลาออก
    มาตรา ๒๑ ในกรณีตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมดก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการเลือกสมาชิกสามัญผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘ เป็นกรรมการแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง
    ในกรณีตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดังกล่าวทั้งหมด ให้สมาชิกสามัญเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการดังกล่าวได้ว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง ถ้าวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะไม่ให้มีการเลือกกรรมการแทนก็ได้ ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
    มาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
    (๑) บริหารกิจการสภาการพยาบาลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามมาตรา ๗
    (๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรม คณะอนุกรรมการสอบสวน และคณะอนุกรรมการอื่น เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล
    (๓) ออกข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วย
    • (ก) การเป็นสมาชิก
    • (ข) การกำหนดโรคตามมาตรา ๑๑ (๑) (จ)
    • (ค) การกำหนดค่าจดทะเบียนสมาชิกสามัญ ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้
    • (ง) การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการ และการแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๗
    • (จ) หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและการออกใบอนุญาตแบบและประเภทใบอนุญาต
    • (ฉ) หลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (ช) ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (ซ) การรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (ฌ) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ
    • (ญ) หลักเกณฑ์การรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (ฎ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสอบความรู้ตามอำนาจหน้าที่ของสภาการพยาบาล
    • (ฏ) หลักเกณฑ์ว่าด้วยการสืบสวนหรือสอบสวนในกรณีมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษว่ามีผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (ฐ) เรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของสภาการพยาบาล หรืออยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสภาการพยาบาลตามกฎหมายอื่น
    ข้อบังคับสภาการพยาบาล เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
    มาตรา ๒๓ นายกสภาการพยาบาล อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สอง เลขาธิการ รองเลขาธิการ ประชาสัมพันธ์และเหรัญญิก มีอำนาจดังต่อไปนี้
    (๑) นายกสภาการพยาบาลมีอำนาจหน้าที่
    • (ก) ดำเนินกิจการของสภาการพยาบาลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามมติของคณะกรรมการ
    • (ข) เป็นผู้แทนสภาการพยาบาลในกิจการต่าง ๆ
    • (ค) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ
    นายกสภาการพยาบาลอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เห็นสมควรได้
    (๒) อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกสภาการพยาบาลมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อนายกสภาการพยาบาลไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (๓) อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สองเป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกสภาการพยาบาลมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อทั้งนายกสภาการพยาบาลและอุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (๔) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่
    • (ก) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาการพยาบาลทุกระดับ
    • (ข) ควบคุมรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสภาการพยาบาล
    • (ค) รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และทะเบียนอื่น ๆ
    • (ง) ควบคุม ดูแลทรัพย์สินของสภาการพยาบาล
    • (จ) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ
    (๕) รองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยเลขาธิการในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการตามที่เลขาธิการมอบหมาย และเป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการเมื่อเลขาธิการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
    (๖) ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แนะนำ เผยแพร่กิจการของสภาการพยาบาล และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการพยาบาลการผดุงครรภ์ และการสาธารณสุข
    (๗) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงินและการงบประมาณของสภาการพยาบาล

    หมวด ๔
    การดำเนินการของคณะกรรมการ

    มาตรา ๒๔ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
    มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
    มติของที่ประชุมในกรณีให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ (๑) (ค) (ง) และ (จ) ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ
    การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
    มาตรา ๒๕ สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังคณะกรรมการในเรื่องใด ๆ ก็ได้
    มาตรา ๒๖ มติของที่ประชุมคณะกรรมการในเรื่องต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้
    (๑) การออกข้อบังคับ
    (๒) การกำหนดงบประมาณของสภาการพยาบาล
    (๓) การให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม
    (๔) การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๔๑ วรรคสาม (๔) และ (๕)
    ให้นายกสภาการพยาบาลเสนอมติตามวรรคหนึ่งต่อสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจมีคำสั่งยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติที่นายกสภาการพยาบาลเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบมตินั้น
    ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับทราบการยับยั้ง ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้

    หมวด ๕
    การควบคุมการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

    มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เว้นแต่ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    • (๑) การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ที่กระทำต่อตนเอง
    • (๒) การช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยาโดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน แต่การกระทำดังกล่าวต้องมิใช่เป็นการฉีดยาหรือสารใด ๆ เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย หรือการให้ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
    • (๓) นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ในความควบคุมของสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของรัฐ หรือที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้ง หรือสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการรับรอง ทั้งนี้ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกหัดหรือผู้ให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (๔) บุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    • (๕) ผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น
    • (๖) การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ หรือผู้สอนในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาการพยาบาล
    • (๗) บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในกรณีที่มีสาธารณภัยหรือเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง
    • (๘) บุคคลซึ่งช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตามระเบียบซึ่งรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    มาตรา ๒๘ การขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทาง และหนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาการพยาบาล
    มาตรา ๒๙ การขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แบ่งเป็นสามประเภท คือ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    ผู้ประกอบวิชาชีพในแต่ละประเภทตามวรรคหนึ่งให้แบ่งเป็นสองชั้น คือ ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง
    ใบอนุญาตทุกประเภทให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
    มาตรา ๓๐ ผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๒๙ ต้องมีความรู้ดังนี้
    (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ต้อง
    • (ก) ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่คณะกรรมการรับรองและสอบความรู้แล้ว หรือ
    • (ข) ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ตนได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบหลักฐานการศึกษาและสอบความรู้แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรก็ได้
    (๒) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นสอง ต้อง
    • (ก) ได้รับประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับต้น จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ที่คณะกรรมการรับรองและสอบความรู้แล้ว หรือ
    • (ข) ได้รับประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ตนได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบหลักฐานการศึกษาและสอบความรู้แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศที่ผู้นั้นได้รับประกาศนียบัตรก็ได้
    มาตรา ๓๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาลและมีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล เมื่อผู้ประกอบผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพ ให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง ให้ผู้ซึ่งขาดจากสมาชิกภาพตามวรรคสองส่งคืนใบอนุญาตต่อเลขาธิการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการขาดจากสมาชิกภาพ
    มาตรา ๓๒ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล
    มาตรา ๓๓ บุคคลผู้ซึ่งได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มีสิทธิกล่าวหาผู้ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อสภาการพยาบาล
    กรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยแจ้งเรื่องต่อสภาการพยาบาล
    สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือสิทธิการกล่าวโทษตามวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพนั้น
    การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
    มาตรา ๓๔ เมื่อสภาการพยาบาลได้รับเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษตามมาตรา ๓๓ หรือในกรณีที่คณะกรรมการมีมติว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ผู้ใด ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานอนุกรรมการจริยธรรมโดยไม่ชักช้า
    มาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมจากสมาชิกสามัญประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้รับตามมาตรา ๓๔ แล้วทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
    มาตรา ๓๖ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานและความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าว แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    (๑) ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา
    (๒) ให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวน ในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นมีมูล
    (๓) ให้ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ ในกรณีที่เห็นว่าข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษนั้นไม่มีมูล
    มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจากสมาชิกสามัญ ประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และอนุกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนมีหน้าที่สอบสวนสรุปผลการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
    มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและของคณะอนุกรรมการสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุกรรมการจริยธรรมและอนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำและมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใดๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว
    มาตรา ๓๙ ให้ประธานอนุกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษพร้อมทั้งส่งสำเนาเรื่องที่กล่าวหาหรือกล่าวโทษ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเริ่มทำการสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษมีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานใดๆมาให้คณะอนุกรรมการสอบสวน คำชี้แจงหรือพยานหลักฐานนั้น ให้ยื่นต่อประธานอนุกรรมการสอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานอนุกรรมการสอบสวน หรือภายในกำหนดเวลาที่คณะอนุกรรมการสอบสวนจะขยายให้
    มาตรา ๔๐ เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการโดยไม่ชักช้าเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
    มาตรา ๔๑ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าว
    คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
    คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    • (๑) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ
    • (๒) ว่ากล่าวตักเตือน
    • (๓) ภาคทัณฑ์
    • (๔) พักใช้ใบอนุญาตหรือมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี
    • (๕) เพิกถอนใบอนุญาต
    ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรานี้ให้ทำเป็นคำสั่งสภาการพยาบาล และให้ถือเป็นที่สุด
    มาตรา ๔๒ ให้เลขาธิการแจ้งคำสั่งสภาการพยาบาลตามมาตรา ๔๑ ไปยังผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้บันทึกข้อความตามคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ด้วย
    มาตรา ๔๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพดังกล่าวหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว นับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาการพยาบาลที่สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น
    มาตรา ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใด กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ และถูกลงโทษจำคุกตามมาตรา ๔๖ โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
    มาตรา ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้เมื่อพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกต่อเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการปฏิเสธออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้ว ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป

    หมวด ๕ ทวิ
    พนักงานเจ้าหน้าที่

    มาตรา ๔๕ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบใบอนุญาต ค้นหรือยึดเอกสารหลักฐาน หรือสิ่งของที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาหรือดำเนินคดี ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือเวลาที่ทำการของสถานที่ดังกล่าว
    • (๑) สถานที่ประกอบการที่มีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ปฏิบัติงานอยู่
    • (๒) สถานที่ที่มีเหตุสมควรเชื่อว่ามีการประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    • (๓) สถานที่ที่ทำการสอนหรือเชื่อว่าทำการสอนวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
    มาตรา ๔๕ ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
    มาตรา ๔๕ จัตวา ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
    มาตรา ๔๕ เบญจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้รับผิดชอบหรือปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ตามมาตรา ๔๕ ทวิ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

    หมวด ๖
    บทกำหนดโทษ

    มาตรา ๔๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
    มาตรา ๔๘ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ตามที่เรียกหรือแจ้งให้ส่งตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา ๔๘ ทวิ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๔๕ เบญจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    บทเฉพาะกาล
    มาตรา ๔๙ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลตามพระราชบัญญัตินี้
    มาตรา ๕๐ ผู้ใดได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน ในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ หรือสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตนั้นยังคงใช้ได้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในประเภทและชั้น แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้
    มาตรา ๕๑ ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาการพยาบาล และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๔ เป็นกรรมการ การแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเลือกผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๔ ให้ทำหน้าที่เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเหรัญญิก ตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการแล้วเสร็จ การเลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลเป็นกรรมการ ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
    มาตรา ๕๒ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

    ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    พลเอก ป. ติณสูลานนท์
    นายกรัฐมนตรี

    อัตราค่าธรรมเนียม
    • (๑) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท
    • (๒) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท
    • (๓) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท
    • (๔) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นสอง ฉบับละ ๒,๔๐๐ บาท
    • (๕) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ชั้นสอง ฉบับละ ๒,๔๐๐ บาท
    • (๖) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสอง ฉบับละ ๒,๔๐๐ บาท
    • (๗) ค่าหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้และความชำนาญเฉพาะทาง หนังสือแสดงวุฒิอื่นในวิชาชีพการพยาบาลการผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ฉบับละ ๒,๔๐๐ บาท
    • (๘) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ฉบับละ ๑,๘๐๐ บาท
    • (๙) ค่าใบแทนใบอนุญาต และค่าใบแทนเอกสารตาม (๗) ฉบับละ ๑,๘๐๐ บาท
    หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์อยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมทั้งการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาลการผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรม เภสัชกรรม การผดุงครรภ์ และในปัจจุบันมีผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นจำนวนมาก สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพดังกล่าวออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยจัดตั้งสภาการพยาบาลขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว และผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเอง เป็นกรรมการ เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยอิสระเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

    พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐
    มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลตามมาตรา ๑๔ และกรรมการที่ปรึกษาตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘
    มาตรา ๒๑ ให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาล สาขาการผดุงครรภ์ และสาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๔๗๙ หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีอายุต่อไปอีกห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
    มาตรา ๒๒ ผู้ที่ได้รับอนุปริญญาที่มีหลักสูตรการศึกษาไม่น้อยกว่าสามปี หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าอนุปริญญาในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้ ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาหลักสูตรและสอบความรู้แล้ว
    มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

    หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ขอบเขตของการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตามกฎหมายขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงทางวิชาการ และบทบัญญัติอื่นบางประการยังไม่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่มีการกำหนดอายุของใบอนุญาต ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะเพื่อปฏิบัติงานโดยตรงในการใช้บังคับกฎหมาย และไม่มีบทบังคับให้มีการสอบความรู้ในการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์ นอกจากนั้นสมควรขยายบทบาทของสภาการพยาบาล โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่องค์ประกอบของสมาชิก คณะกรรมการ และกรรมการที่ปรึกษาของสภาพยาบาลและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมแก่ภาวะกาลปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้